ทำไมโดรนจะมีขาไม่ได้? แล้วถ้าโดรนมีขา ศักยภาพจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง? คำตอบของคำถามข้างต้น ได้รับการพัฒนาจนออกมานวัตกรรมต้นแบบแล้ว
เพราะล่าสุด นักจัยจากสถาบันเทคโนโลยีโลซาน (École Polytechnique Fédérale de Lausanne - EPFL) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ได้พัฒนาโดรนที่สามารถลงจอดและบินขึ้นในพื้นที่ที่อากาศยานทั่วไปไม่สามารถทำได้ผ่านการใช้ขา โดยโดรนดังกล่าวมีชื่อว่า “Robotic Avian-inspired Vehicle for multiple ENvironments หรือ RAVEN” ที่ได้พัฒนาเกียร์ลงจอดแบบดั้งเดิมของโดรนเป็นขาคู่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนก ซึ่งนอกจากการลงจด ยังสามารถช่วยให้โดรนเดินไปรอบๆ กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง หรือแม้แต่กระโดดขึ้นฟ้าเพื่อบินขึ้นโดยไม่ต้องใช้รันเวย์เทคออฟ
ตามที่ระบุในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature สัปดาห์นี้ นักวิจัยผู้พัฒนานวัตกรรม RAVEN กล่าวว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากนก เช่น อีกาที่สามารถเคลื่อนที่บนพื้นดินได้ง่ายด้วยขาเล็กๆ คู่หนึ่ง โดยสร้างการทำงานของขานกทางกลไกในแบบที่ไม่เพิ่มน้ำหนักที่มากเกินไปกับโดรน อีกทั้งงานออกแบบสำหรับขาคู่นี้ยังผสมผสานระหว่างสปริงและมอเตอร์ในรูปแบบที่เลียนแบบ “เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อของนกที่ทรงพลัง” ในขณะที่เท้าที่มีการออกแบบแบบง่ายโดยใช้ “โครงสร้างแบบข้อต่อสองส่วน” พร้อมกับนิ้วเท้าที่มีข้อต่อแบบยืดหยุ่น ป้องกันไม่ให้ RAVEN ล้มลง และยังมีความสำคัญสำหรับการเดินและการจัดตำแหน่งโดรนในมุมที่เหมาะสมสำหรับการบินขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
แต่เอาเข้าจริง โดรนที่ใช้ขาไม่ใช่แนวคิดใหม่เสียทีเดียว อย่างในปี 2019 บริษัทสตาร์ทอัพจากแอฟริกาใต้ที่ชื่อ Passerine ได้สาธิตโดรนชื่อ Sparrow ที่ใช้ขาแบบสปริงในการกระโดดขึ้นสู่ฟ้าและขึ้นบิน แต่ความแตกต่างจาก RAVEN คือความซับซ้อนของขาที่ทำให้โดรนเดินข้ามพื้นผิวที่ขรุขระ กระโดดข้ามช่องว่าง และกระโดดขึ้นไปบนสิ่งกีดขวางที่สูงมากถึง 10 นิ้วได้
สรุปสุดท้ายในแง่ของการนำไปใช้ ด้วยการทำงานของ RAVEN จึงไม่จำกัดอยู่ที่สนามบินหรือพื้นที่พื้นผิวเรียบเท่านั้น โดรนสามารถลงจอดและสำรวจพื้นที่ที่อาจเป็นอันตราย แล้วเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการบินขึ้นได้ อีกทั้งทั้งหมดนี้ยังทำได้โดยใช้พลังงานน้อยกว่าโดรนทั่วไป ทำให้มีขอบเขตการทำงานที่กว้างขึ้นอีกด้วย