______
⠀⠀⠀สำหรับคนที่เติบโตในช่วงยุคเปลี่ยนผ่าน คงได้เห็นวิวัฒนาการของร้านขายของชำมาไม่น้อย ตั้งแต่การเป็นร้านค้าปลีกที่เราเรียกกันว่า ‘โชห่วย’ เข้าสู่ยุคของร้านสะดวกซื้อ จนมาในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการจับจ่ายซื้อของมากขึ้น ทำให้เราเริ่มได้เห็นร้านขายของชำอัตโนมัติที่ไร้พนักงาน ทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์รอบร้านที่ได้รับการพัฒนามาอย่างดี ให้ลูกค้าได้เลือกหยิบสินค้าและชำระเงินด้วยตัวเองอย่างสะดวกสบาย แม่นยำ และปลอดภัย
ร้านขายของชำอัตโนมัติ จึงเปรียบเสมือนภาพการจับจ่ายซื้อขายในโลกอนาคต ทว่านวัตกรรมนี้ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่อีกเช่นเคย เพราะเมื่อราว 90 ปีก่อน เคยมีนักธุรกิจหัวใสที่ปิ๊งไอเดีย ตั้งร้านขายของชำอัตโนมัติแห่งแรกของโลกขึ้นมา ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะพลิกโฉมการจับจ่ายของชาวอเมริกันให้ก้าวล้ำไปอีกระดับ
⠀⠀⠀ร้านขายของอัตโนมัตินี้ มีชื่อว่า “Keedoozle” (ออกเสียงว่า คี-ดู-เซิล) ก่อตั้งในช่วงปี 1937 โดยคุณแคลเรนซ์ ซอนเดอร์ส (Clarence Saunders) นักธุรกิจที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสตาร์ทอัพยุคแรก ๆ ผู้เคยพลิกโฉมวงการการจับจ่ายของชาวอเมริกันมาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยการก่อตั้งร้านขายของแบบบริการตัวเองแห่งแรกในสหรัฐฯ ในชื่อ “Piggly Wiggly” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ด้วยวิถีเดิมในยุคนั้น ที่ลูกค้าต้องแจ้งสิ่งที่ตัวเองต้องการซื้อแล้วพนักงานจะไปเลือกหยิบมาให้ แต่ Piggly Wiggly อนุญาตให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าแล้วหยิบใส่ตะกร้าด้วยตัวเอง สร้างความแปลกใหม่ สะดวกสบาย และความพึงพอใจให้ลูกค้าที่ได้รับของที่ตัวเองเลือกกับมือ
แม้ Piggly Wiggly จะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แต่ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ในยุคนั้น ก็ทำเอาคุณซอนเดอร์เกือบสูญเสียธุรกิจทั้งหมดไป เขาจึงตั้งมั่นที่จะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ด้วยการต่อยอดจากไอเดียร้านขายของแบบบริการตนเองที่ลูกค้าสามารถเลือกหยิบของเอง หรือเดินไปเดินมาภายในร้านได้อย่างสะดวก ให้กลายเป็นร้านขายของอัตโนมัติที่ลูกค้าไม่ต้องยกมือขึ้นหยิบสินค้าเองเลยด้วยซ้ำ
⠀⠀⠀จึงเป็นที่มาของ “Keedoozle” ซึ่งเป็นการเล่นคำจาก “Key does all” ที่แปลตรงตัวได้ว่า “กุญแจทำให้ทุกอย่าง” นั่นก็เพราะกลไกการทำงานของร้านขายของอัตโนมัติแห่งนี้ ใช้กุญแจไฟฟ้าในการสั่งการทั้งหมด
โดยลูกค้าจะได้รับกุญแจไฟฟ้าเมื่อเดินเข้าร้าน (ลักษณะคล้ายเครื่องพิมพ์ใบเสร็จขนาดเล็กในปัจจุบัน) ซึ่งสินค้าทุกอย่างจะถูกจัดเรียงไว้ในตู้อย่างเป็นระเบียบ โดยมีกล่องรับคำสั่งอยู่ด้านหน้า หากลูกค้าต้องการสินค้าชิ้นใด ก็เพียงแค่นำกุญแจไปเสียบไว้ที่กล่องแล้วระบุรหัสสินค้าพร้อมจำนวนที่ต้องการ จากนั้นเครื่องจักรหลังบ้านก็รับคำสั่งแล้วนำสินค้าส่งออกมาทางสายพานเพื่อไปที่เคาน์เตอร์ชำระเงินโดยอัตโนมัติ และจะถูกรีเช็คความถูกต้องอีกครั้งจากใบเสร็จบนกุญแจ
⠀⠀⠀นับเป็นนวัตกรรมที่ก้าวล้ำนำยุคสมัยจนน่าตกใจ แต่ความว้าวของ Keedoozle ก็ดึงดูดลูกค้าได้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว ด้วยเหตุที่ว่าระบบการสั่งซื้อเช่นนี้ ยังมีความซับซ้อนเกินไปสำหรับผู้คนในยุคนั้น ทั้งยังพบข้อผิดพลาดในการรับออเดอร์ค่อนข้างมาก และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำเอาคุณซอนเดอร์ต้องกุมขมับเลยก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ยังหลงรักระบบการเลือกสินค้าด้วยตัวเองแบบร้าน Piggly Wiggly มากกว่าที่จะใช้เครื่องจักรไปทำงานแทน
Keedoozle จึงเป็นอันต้องเจ๊งไปตามระเบียง ซึ่งหากว่ากันตามตรง ก็อาจเรียกว่าเป็นร้านขายของอัตโนมัติได้ไม่เต็มปากนัก เพราะหลายสำนักข่าวก็ให้ความเห็นว่า นวัตกรรมร้านขายของนี้ คล้ายตู้ขายของหยอดเหรียญขนาดใหญ่เสียมากกว่า
⠀⠀⠀อย่างไรก็ตาม Keedoozle ก็เป็นข้อพิสูจน์ชั้นดีที่ช่วยตอกย้ำว่า นวัตกรรมที่โดดเด่น อาจไม่ใช่แค่เรื่องความล้ำหน้าของแนวคิดหรือเทคโนโลยี แต่กลับเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่าง “มันตอบความต้องการของผู้ใช้งานในเวลานั้นได้จริงหรือไม่?”
________
#CMUSTeP #STeP #ณWHATตะกรรม #Keedoozle #AutomatedGroceryStore #ร้านขายของอัตโนมัติ