“ใช้อารมณ์” หรือ “ใช้เหตุผล” จีบลูกค้าด้วย 2 ขั้วกลยุทธ์การตลาดอย่างไรให้เวิร์ค!

“ใช้อารมณ์”  หรือ “ใช้เหตุผล” 
จีบลูกค้าด้วย 2 ขั้วกลยุทธ์การตลาดอย่างไรให้เวิร์ค!

_______________

⠀⠀⠀กลยุทธ์ทางการตลาด หรือ Marketing Strategy หมายถึงการเลือกวิธีการ การวางแผน การลำดับขั้นตอนในการลงมือทำการตลาดอย่างมี ‘ชั้นเชิง’ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการตลาดหรือเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้ เรียกง่าย ๆ ว่าคือเทคนิคของแต่ละธุรกิจในการทำให้ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย ตัดสินใจเข้ามาเป็นลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการของเรา และเกิดความประทับใจในสินค้านั้น ๆ จนกลายเป็นลูกค้าประจำนั้นเอง เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเทคนิคการ #จีบลูกค้า ให้อยู่หมัดนั่นเอง

ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดก็มีด้วยกันอยู่หลากหลายวิธีการ ซึ่งวันนี้ STARTUP STORY จะขอยกมา 2 กลยุทธ์ต่างขั้ว ระหว่างกลยุทธ์การดึงดูดใจด้วย ‘อารมณ์’ กับกลยุทธ์การดึงดูดใจด้วย ‘เหตุผล’ มาดูกันว่าแต่ละกลยุทธ์มีข้อดีต่างกันอย่างไร และอันไหนที่เหมาะกับธุรกิจของเรา 

.

.

  ใช้อารมณ์ดึงดูดความสนใจ กระตุ้นให้เกิดการซื้อ

⠀⠀⠀กลยุทธ์การดึงดูดใจด้วยอารมณ์ (Emotional marketing) คือกลยุทธ์ที่ใช้อารมณ์ร่วมของผู้บริโภคมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ การจดจำ การบอกต่อ รวมถึงทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้า ผ่านอารมณ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยมองว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจและพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งอารมณ์ที่ใช้กระตุ้นนั้น มีทั้งในเชิงบวก อาทิ ความสุข การเป็นส่วนหนึ่ง การให้แรงบันดาลใจ และในเชิงลบ อาทิ ความโกรธ ความกลัว ความโลภ

.

.

 ‘ใช้อารมณ์จีบลูกค้า’ ทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?

 มีเรื่องเล่า: ธุรกิจที่นำเสนอตัวตนด้วยเรื่องราว จะกระตุ้นอารมณ์ร่วมของผู้บริโภค คล้ายกับการดูหนังหรืออ่านหนังสือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการรับรู้เรื่องราวนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุข หรือการได้แรงบันดาลใจ จะยังคงติดอยู่ในความทรงจำ และสิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาจดจำธุรกิจของเราได้ดียิ่งขึ้น

 สร้างภาพลักษณ์ที่คนอยากเป็นส่วนหนึ่ง: ยกตัวอย่างจาก Nike ที่ใช้สโลแกน ‘Just Do It’ ในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภค ‘ลงมือทำ’ สะท้อนภาพลักษณ์ของการเป็นแบรนด์ที่มีความกล้า พร้อมรับความท้าทาย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอารมณ์ของผู้บริโภคที่อยากรับภาพลักษณ์นี้มาไว้กับตัว ให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

 ให้ประสบการณ์ที่น่าจดจำ: ทุกประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้รับจากแบรนด์มีส่วนสำคัญในการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ ซึ่งเราสามารถการสร้างประสบการณ์ที่ดีได้จากหลายองค์ประกอบ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่แปลกใหม่ การให้บริการลูกค้าที่ใส่ใจ หรือการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างมีเอกลักษณ์ เป็นต้น

 เป็นหนึ่งเดียวกับผู้คน: คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะในประเด็นความเท่าเทียม ความเข้าอกเข้าใจในวิถีชีวิต หรือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม หากแบรนด์มีการสื่อสาร หรือมีการจัดแคมเปญเพื่อส่งเสริมในประเด็นเหล่านี้ ก็จะสามารถดึงดูดผู้บริโภคที่สนใจในแนวคิดเดียวกันเข้ามาได้

.

.

 จูงใจด้วยเหตุและผล คนซื้อต้องได้ประโยชน์

⠀⠀⠀กลยุทธ์การดึงดูดใจด้วยเหตุผล (Rational marketing) คือกลยุทธ์ที่เน้นการสร้างแรงจูงใจซื้อ ผ่านการสื่อสารและการแสดงข้อมูล-ข้อเท็จจริงที่ว่า สินค้าหรือบริการนั้น ให้คุณค่า ให้ประโยชน์ และตอบสนองตามความต้องการหรือความจำเป็นของผู้บริโภคอย่างไร เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการบอกผู้บริโภคด้วยข้อมูลว่า ทำไมถึงควรเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของเรา

.

.

 ‘ใช้เหตุผลจีบลูกค้า’ ทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?

 ชูเอกลักษณ์เฉพาะตัว: เน้นการนำเสนอคุณสมบัติที่โดดเด่นหรือประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจง (Feature) ของผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อแสดงว่าสินค้าของเราสามารถการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและแก้ปัญหาของพวกเขาได้

 เสนอความคุ้มค่าที่จะได้รับ: ในยุคนี้สินค้าราคาถูก อาจไม่ตอบโจทย์เท่าความสมเหตุสมผลของราคาจ่ายกับสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับ ยกตัวอย่าง IKEA ที่สินค้าของแบรนด์อาจไม่ได้มีราคาถูกนัก แต่ผู้บริโภคยอมจ่ายเพื่อแลกกับดีไซน์ของสินค้าและประสบการณ์จากการลงมือประกอบเอง

 ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี: นั่นคือการนำเสนอว่าหากมีสินค้าของเราจะช่วยให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นอย่างไร ยกตัวอย่างจาก Volvo ที่มีวิสัยทัศน์คือ จะต้องไม่มีใครเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บหากใช้รถของเขา เป็นการใช้จุดเด่นเรื่องความปลอดภัยในการจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ

 อ้างอิงด้วยข้อมูล: การมีข้อมูล สถิติ งานวิจัย หรือรีวิวจากผู้ใช้งาน มาสนับสนุนคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้ดี และยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้ออีกด้วย

.

.

⠀⠀⠀กลยุทธ์ทั้งสองวิธีต่างมีข้อดีในตัวเอง และที่สำคัญ! เราอาจไม่จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะสองกลยุทธนี้สามารถใช้ควบคู่กันไปได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ Apple ซึ่งมีสโลแกน ‘Think Different’ ให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่คิดต่าง จากการสนับสนุนกลุ่มคนที่สร้างสรรค์ กล้าออกจากกรอบ ไปพร้อมกับการส่งสินค้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพออกสู่ตลาด ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม ซึ่งก็อาจต้องไปพิจารณากันต่อไปว่ากลยุทธ์แบบใดที่จะเหมาะกับสินค้าและบริการของเรา เพื่อให้สามารถจีบลูกค้าได้แบบชัวร์ ๆ ไม่นก ไม่อกหัก ให้ปวดหัวใจ 

.

.

ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก

https://thedigitaltips.com/blog/news/marketing-strategy/...

https://missiontothemoon.co/marketing-emotional-marketing/

https://www.blockdit.com/posts/643662a485dad6981fff8819