How to ไปคอนเสิร์ตแบบรักษ์โลก สนุกกับดนตรียังไงไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อม?

How to ไปคอนเสิร์ตแบบรักษ์โลก 
สนุกกับดนตรียังไงไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อม?

__________

⠀⠀⠀ต้องพูดเลยว่า ในปัจจุบันการกลับมาของงานคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีต่าง ๆ ได้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมดนตรี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่างานคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีนั้น เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือพูดง่ายๆก็คือ เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง เมื่อคอนเสิร์ตกลับมาอีกครั้ง ‘#คาร์บอนฟุตพริ้นท์’ จากคอนเสิร์ตก็กลับมาอีกครั้งเช่นกัน...

.

.

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คืออะไร ? 

      คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คือ ปริมาณการปล่อยและดูดกลับของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจากอุตสาหกรรมต่างๆ การใช้รถ การเดินทาง หรือตลอดวัฏจักรชีวิต วัดรวมอยู่ในรูปของตัน (กิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก่อให้เกิดการปล่อยของเสียหรือปล่อยคาร์บอนที่ไม่ดีต่อโลก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนนั่นเอง

.

.

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของการทัวร์คอนเสิร์ตมาจากไหน ? 

      คอนเสิร์ตก่อให้เกิดของเสียและการปล่อยคาร์บอนที่ไม่ดีต่อโลก การแสดงเหล่านี้สามารถทำร้ายโลกเราได้มากกว่าที่เราคิดโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นเป็นเพราะทั้งศิลปินและผู้ชมคอนเสิร์ตต่างเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก นอกจากนี้ การโปรโมตอัลบั้มและการแสดงสดทั่วโลกทำให้นักดนตรีและผู้ติดตามของพวกเขาต้องเดินทางไกล จากนั้นก็ยังมีการปล่อยมลพิษจากรถทัวร์ จากการย้ายฉาก และจากการผลิตสินค้าคอนเสิร์ต รวมไปถึงสถานที่ แสง สี เสียง หรือเครื่องไฟฟ้า เครื่องพ่นควัน และอุปกรณ์ต่างๆ 

      นักวัจัยจากองค์กร REVERB ได้ศึกษาทัวร์ของศิลปินกลุ่มนึง ผ่านเครื่องมือติดตามคาร์บอนออนไลน์ พบว่าพวกเขาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 19 เมตริกตันในช่วงเทศกาลดนตรี 

      งานวิจัยของ Julie’s Bicycle ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2553 ได้ประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการจัดคอนเสิร์ตในสหราชอาณาจักรว่าอยู่ที่ 405,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิด Carbon Footprint มากที่สุด คือ การใช้พลังงงานของสถานที่จัดงาน และการเดินทางของผู้ชมในการจัดคอนเสิร์ต 1 ครั้งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ช่วงประชาสัมพันธ์ไปจนถึงขายสินค้าหลังคอนเสิร์ตจบ โดยสถานที่จัดคอนเสิร์ตคือส่วนประกอบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึง 34 เปอร์เซ็นต์, รองลงมาคือการเดินทางของคนดูคอนเสิร์ต 33 เปอร์เซ็นต์, การผลิตสินค้า 12 เปอร์เซ็นต์, ที่อยู่อาศัยของคนดู ทีมงาน และศิลปิน 10 เปอร์เซ็นต์, การเดินทางของศิลปิน 9 เปอร์เซ็นต์ และการประชาสัมพันธ์ 2 เปอร์เซ็นต์  

.

.

จะมีวิธีไหนที่สามารถไปดูคอนเสิร์ตได้ แล้วยังรักษ์โลกได้บ้าง? 

⠀⠀⠀วันนี้ STeP จึงอยากมาแนะนำวิธีง่ายๆเริ่มได้จากตัวเรา ที่จะช่วยให้เราสามารถไปดูคอนเสิร์ตได้ แล้วยังรักษ์โลกได้อีกด้วย มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

    - การพกแก้วน้ำหรือขวดน้ำแบบใช้ซ้ำไปเอง 

    - การแยกขยะ ทิ้งขยะตามจุดทิ้งขยะที่สามารถรีไซเคิลได้  

    - การลดการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็น เช่น หลอดพลาสติก ถุงพลาสติก 

    - การเดินทางไปคอนเสิร์ต โดยการใช้รถร่วมกันหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ  

    - ใช้ตั๋วคอนเสิร์ตแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทดแทนการปริ้นส์ตั๋วออกมาเป็นบัตรหรือกระดาษ

.

.

      และขณะเดียวกันก็เริ่มมีหลายวงดนตรีหันมาสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เช่น Coldplay, Harry Styles, The 1975, Ninja Tune, Billie Eilish หรือ Tame Impala ที่มีแพลนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกน้อยลง และใช้อุปกรณ์การผลิตต่างๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นกระแสใหม่ในอุตสาหกรรมดนตรีในทุกวันนี้และต่อไปในอนาคต ที่ปลูกฝังให้ทุกคนไม่เพียงแค่รักในเสียงดนตรี แต่ก็ต้องรักในสิ่งแวดล้อมของพวกเราอีกด้วย

      STeP เชื่อว่า ทุกคนต่างก็ชื่นชอบการชมคอนเสิร์ต และอยากให้มีการจัดคอนเสิร์ตขึ้นบ่อยๆโดยที่ไม่ทำลายโลกมากจนเกินไป เพื่อที่จะได้สนับสนุนวงการดนตรี สนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ... และวิธีแก้ไขปัญหานี้ก็ง่ายนิดเดียว คือ เริ่มจากตัวเราก่อนเป็นอันดับแรก เราจะได้สนุกกับดนตรีอย่างสุดเหวี่ยงและรักษ์โลกไปพร้อม ๆ กัน 


ขอบคุณแหล่งข้อมูล

https://www.theguardian.com/.../coldplay-pledge-50-lower...

https://www.bsigroup.com/th-TH/Standards/carbon-footprint/

https://www.thestorythailand.com/10/05/2023/99141/

https://urbancreature.co/concerts-carbon-footprint/