การทำการตลาดแบบ ‘โลกสวย’ สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจด้วย Green Marketing

การทำการตลาดแบบ ‘โลกสวย’ 
สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจด้วย Green Marketing 

_________

⠀⠀⠀เมื่อเห็นคำว่า ‘การตลาดแบบโลกสวย’ หลายคนอาจนึกถึงสิ่งที่สวยงามเกินความจริง ก็ถือว่าไม่ผิดนัก เพราะ ‘GreenMarketing’ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ การตลาดสายกรีน คือแนวคิดหรือกลยุทธ์การตลาดรูปแบบหนึ่งที่เน้นสร้างความยั่งยืนในเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ เพื่อให้ตอบสนองกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม, Climate Change โดยจะเป็นการสร้างแนวคิดรักษ์โลกให้แทรกซึมอยู่ในทุกกระบวนการของธุรกิจ ทั้งในส่วนของขั้นตอนการผลิตและการบริโภค ให้ผู้คนหันมามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เรียกว่าเป็นแนวคิดที่ตั้งใจจะสร้าง ‘โลกสวย’ ให้เกิดขึ้นจริงนั่นเอง

.

     ทำไม ‘Green Marketing’ ถึงสำคัญในยุคนี้?

⠀⠀⠀อันดับแรกเลย นั่นก็เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการบริโภคแบบรักษ์โลกมากขึ้น จากงานวิจัยหัวข้อ การตลาดโลกสวย “Voice of Green” พบว่ามีถึง 37.6% ที่ยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น หากการบริโภคนั้นสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมหรือช่วยโลกได้ และอีก 20.8% มองว่าสามารถเลือกบริโภคหรือปฏิบัติตามแนวทางรักษ์โลกได้ หากสังคมหรือ Influencer ที่ตัวเองไว้วางใจบอกว่าทำแล้วดี นั่นหมายความว่ามีผู้บริโภคกว่าครึ่งหนึ่งในตลาดเลยทีเดียว ที่พร้อมจะสนับสนุนธุรกิจสายนี้

นอกจากนี้ ผลกระทบของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมใดก็ต้อง ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกในทางใดทางหนึ่ง แนวคิด Green Marketing จึงเป็นอีกทางหนึ่งให้ผู้ประกอบการได้แสดงความรับผิดชอบและส่งคืนสิ่งดี ๆ กลับสู่สิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อลดผลเสียต่อโลกในระยะยาว ให้เราสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน

.

     เราใส่ ‘ความกรีน’ ลงในส่วนไหนของธุรกิจได้บ้าง?

⠀⠀⠀หลายคนอาจกังวลว่าการทำการตลาดสีเขียว อาจต้องยกเครื่องธุรกิจใหม่หมด แต่จริง ๆ แล้วมันง่ายกว่าที่คิด โดยเราสามารถนำกลยุทธ์ Green Marketing เข้าไปสอดแทรกในหลักการตลาดพื้นฐาน 4P ได้เลยทันที ดังนี้

 สินค้าสีเขียว (Green Product) —  เรารู้จักกันดีในชื่อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) เกิดจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ หรือการลดพลังงานในการผลิต เป็นต้น

 ราคาสีเขียว (Green Price) — แน่นอนว่าสินค้าสีเขียวย่อมมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้การตั้งราคาต้องสูงขึ้นตาม ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องกำหนดราคาโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในมุมมองของลูกค้า เพื่อให้พวกเขามั่นใจว่าสินค้ามีคุณภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีประโยชน์กับโลกในระยะยาว

 สถานที่สีเขียว (Green Place) — ในที่นี้ หมายถึงสถานที่การจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมไปถึงกระบวนการขนส่งต่าง ๆ จึงต้องคำนึงเรื่องทำเลที่เหมาะสมและใกล้ชิดกับลูกค้าให้มากที่สุด อีกทั้งควรตระหนักถึงเรื่องวิธีการกระจายสินค้าโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดอีกด้วย

 การโปรโมตสีเขียว (Green Promotion) — การทำโปรโมชันหรือโฆษณาในแนวทางการตลาดสีเขียว คือนอกจากการที่เราโปรโมตตัวธุรกิจหรือสินค้าแล้ว เราควรเผยแพร่ข่าวสารให้กับผู้บริโภคควรให้ความสำคัญในเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ประเด็นนี้ในวงกว้าง

.

      การตลาดแบบโลกสวย มีข้อดีอย่างไร?

สร้างโอกาสใหม่ — ตลาดกรีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นในอนาคตสูงมาก และกลุ่มลูกค้าเองก็ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และยินดีเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อแลกกับการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นตลาดที่น่าเจาะไม่น้อย

บอกเล่าเรื่องราวได้ — ด้วยกระบวนการผลิตของสินค้าสายกรีน ทำให้แต่ละชิ้น แต่ละขั้นตอน มีเรื่องเล่าในตัวเองอยู่แล้ว นั่นจึงเป็นจุดขายสำคัญที่สามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างการรับรู้ให้ธุรกิจได้ง่ายขึ้น 

สร้างจุดยืนและความน่าเชื่อถือ — การกำหนดจุดยืนของตัวเองเป็นธุรกิจ ‘สายกรีน’ จะทำให้ธุรกิจของเราดูโดดเด่น ด้วยภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในฐานะแบรนด์ที่กล้าออกมาแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยดึงลูกค้าที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้ามาได้ไม่ยาก

เปิดพื้นที่ให้นวัตกรรม — ด้วยเครื่องมือและวิธีการผลิตแบบเดิม อาจไม่ตอบโจทย์กระบวนการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมสักเท่าไร นี่จึงช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต 

ทางเลือกสู่การเติบโตที่ยั่งยืน — การทำ Green Marketing ใช้เงินลงทุนสูงในระยะเริ่มแรก แต่นับว่าคุ้มค่า เพราะธุรกิจที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม มีโอกาสได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากกว่า ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้และการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวได้มากกว่า

.

     ข้อควรระวัง จำขึ้นใจ

⠀⠀⠀ต้องมั่นใจว่าธุรกิจของเราสนับสนุนการรักษ์โลกได้จริง ไม่อย่างนั้นอาจเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการใช้ความรักษ์โลกมาเป็นจุดขาย โดยที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสร้างผลดีต่อโลกจริง ๆ ก็จะทำให้มุมมองของผู้บริโภคต่อธุรกิจของเราเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม

.

     แล้วเราจะเริ่มลงมือทำ Green Marketing อย่างไร?

ตั้งเป้าหมายให้ดีก่อนลงสนาม 

⠀⠀⠀แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนทั้งกระบวนการทำธุรกิจให้เป็นมิตรต่อโลกได้ทุกขั้นตอน ดังนั้นเราควรตั้งเป้าหมายเสียก่อนว่าเราจะใช้หลักการ Green Marketing กับกระบวนการไหนบ้าง ซึ่งจะง่ายต่อการปรับเปลี่ยนและลงมือทำได้จริง 

‘รักษ์โลก’ ให้เหมาะกับธุรกิจ 

⠀⠀⠀เราควรเลือกวิธีการรักษ์โลกที่เหมาะกับธุรกิจมากกว่าเลือกวิธีที่กำลังเป็นกระแส อาทิ การใช้หลอดกระดาษ อาจไม่เหมาะกับเครื่องดื่มที่ต้องใช้การตักกิน หรือการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เร็ว อาจไม่เหมาะกับสินค้าที่ต้องเก็บอุณหภูมิ เป็นต้น

สื่อสารอย่างระมัดระวัง 

⠀⠀⠀การใช้คำว่า “ออร์แกนิค” “plastic-free” “ทำจากธรรมชาติ” “เป็นมิตรต่อโลก” หรือคำอื่น ๆ ในทำนองนี้ อาจสร้างความกำกวมและเข้าใจผิดได้ เราควรใช้คำที่สื่อสารได้อย่างชัดเจนเพื่อแสดงความจริงใจต่อผู้บริโภค เช่น เครื่องสำอางนี้ผลิตจากวัตถุดิบออร์แกนิค 95% เป็นต้น

บอกเล่าสิ่งที่เขาจะได้รับ 

⠀⠀⠀จุดมุ่งหมายของ Green Marketing คือการรับผิดชอบและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก เพื่อพิสูจน์ความจริงข้อนี้ เราจึงควรมีหลักฐานหรืองานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่าการบริโภคสินค้าของเรานั้น จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงทั้งในระยะสั้นและยาวอย่างไรบ้าง

.

⠀⠀⠀อาจไม่ง่ายนัก สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมกับการรักษ์โลก แต่ด้วยทิศทางของกระแสที่ชี้มายังแนวคิดการตลาดสายกรีนนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เราพอจะคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตอันใกล้ Green Marketing จะขึ้นมาเป็นเทรนด์หลักของการทำธุรกิจที่อย่างไรเราก็หนีไม่พ้น สำหรับใครที่กำลังมองหาแนวทางการทำธุรกิจใหม่ ๆ การทำการตลาดแบบโลกสวยนี้ ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย และรับรองว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคุณได้อย่างแน่นอน 


ขอบคุณข้อมูลจาก

https://deeple.ai/blog/green-marketing

https://contentshifu.com/blog/what-is-green-marketing

https://www.primal.co.th/.../green-marketing-strategy/