อากาศร้อน คนยิ่ง ‘หัวร้อน’

อากาศร้อน คนยิ่ง ‘หัวร้อน’ 

ทำไมอากาศร้อนถึงส่งผลต่ออารมณ์ได้มากขนาดนั้น ?

_____________

ในหน้าร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนระอุขนาดนี้ คงเป็นอากาศที่ใครหลายคนไม่ชอบกันสักเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ชินสักที พอถึงฤดูร้อนทีไร บางทีก็พากันหงุดหงิดหรือ ‘หัวร้อน’ ขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ 

หลายคนอาจจะงงว่า ‘หัวร้อน’ คืออะไร?  ยอมรับว่าตอนแรกที่เราได้ยินคำนี้ก็แอบงงเหมือนกัน แต่พอได้ยินบ่อยๆเข้า จึงได้เข้าใจว่ามันหมายถึงเวลาที่เราอารมณ์ร้อน ฉุนเฉียวขึ้นมาฉับพลัน คล้ายเวลาที่กำลังพิมพ์งานใกล้เสร็จแล้วไฟดับกะทันหัน อะไรทำนองนั้น 

.

กลายเป็นความสงสัยว่า อากาศร้อนทำให้คนหัวร้อนได้อย่างไร? 

นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือปี 1801 เป็นต้นมา นักจิตวิทยาเคยตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ว่า อารมณ์เดือดดาลและความก้าวร้าวของคนมักจะพลุ่งพล่านมากที่สุดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งยืนยันได้จากผลการศึกษาและข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอากาศร้อนกับการแสดงออกพฤติกรรมรุนแรง โดยทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นของอากาศสามารถส่งผลต่ออารมณ์และสภาพจิตใจของคนเราได้

.

เครก เอ แอนเดอร์สัน (Craig A. Anderson) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยไอโอวา สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในคนที่สนใจประเด็นนี้ โดยหลังจากค้นคว้าและศึกษาเปรียบเทียบงานวิจัยหลายชิ้น ก็ได้ข้อสรุปว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้คนโกรธ วิตกกังวล และเครียดง่ายขึ้น กลายเป็นคนฉุนเฉียวที่ใช้แต่อารมณ์มุ่งร้ายและความรุนแรง โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนหรือพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง จะมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ สุ่มเสี่ยงก่ออาชญากรรม และฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่อากาศเย็น

.

แม้แต่ภาวะโลกร้อน ก็มีส่วนทำให้คนหัวร้อนและสุขภาพจิตเสียได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับทุกคนทั่วโลก เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 1 องศาเซลเซียส ก็ถือว่ามากพอทำให้อารมณ์ของคนร้อนขึ้นตามไปด้วย

.

การทดลองของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พิสูจน์ว่าอากาศร้อนส่งผลต่อความคิดความอ่านและกระบวนการคิดตัดสินใจได้ โดยผลการทดลองระบุว่า การอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคิด อ่าน และตัดสินใจ ของคนเราจะลดลงอย่างชัดเจน 

.

อย่างไรก็ตาม อากาศร้อนยังไม่ใช่ตัวการที่ทำให้ใจร้อนโดยตรง แต่เป็นตัวเร่งที่ทำให้กลไกการทำงานภายในร่างกายเปลี่ยนไป ผลก็คือ ระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) จะพุ่งสูงฉับพลัน หัวใจเต้นรัว กล้ามเนื้อสูบฉีด ร่างกายจึงตื่นตัวสุดขีด ส่วนความอดทนยับยั้งชั่งใจก็ลดน้อยลง เพราะถูกกระตุ้นให้พร้อมหัวร้อนโมโหร้ายทันที ทั้งหมดเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากอากาศร้อน เหมือนโดมิโนที่ล้มต่อกันเป็นแถวยาว ด้วยเหตุนี้เอง ฮอร์โมนอะดรีนาลีน จึงมีชื่อเล่นว่า ฮอร์โมนแห่งความโกรธ

.

ถึงตรงนี้สามารถสรุปได้ว่า “อากาศร้อนทำให้คนหัวร้อนได้ง่ายจริง” เพราะความร้อนเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกาย ทำให้อารมณ์เดือดดาล เกรี้ยวกราด และพฤติกรรมก้าวร้าวของคนพลุ่งพล่านมากที่สุดในฤดูร้อน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ถ้าจะโทษว่าคนเราหัวร้อนเพราะอากาศร้อนอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะอากาศร้อนเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น

และจากผลการศึกษาทั้งหลายที่ว่ามา ทำให้มีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการแก้ปัญหาความรุนแรงตามสถานที่ต่างๆ เช่น คุก โรงเรียน และสถานที่ทำงาน โดยใช้การควบคุมอุณหภูมิ เพื่อควบคุมอารมณ์ของคนอีกที เช่นการออกแบบสถานที่ให้ปลอดโปร่ง หรือติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อทำให้คนในสถานที่นั้นๆ รู้สึกผ่อนคลาย ความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงหรือพฤติกรรมก้าวร้าวก็สามารถลดลงได้ตามระดับ 

ดังนั้น ถึงอากาศจะกระตุ้นให้คนเราหัวร้อนแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ขึ้นอยู่ที่เราแล้วว่าจะเลือกแสดงอาการเกรี้ยวกราดออกมาหรือไม่..