ทำไมชื่อวิทยาศาสตร์ถึงยาว ความจริงเบื้องหลังกลุ่มคำอ่านยากที่ยาวเหยียด

ทำไมชื่อวิทยาศาสตร์ถึงยาว 
ความจริงเบื้องหลังกลุ่มคำอ่านยากที่ยาวเหยียด 

----------------

‘Myxococcus llanfairpwllgwyngyllgogerychwyrndrobwllllantysiliogogogochensis’ 

⠀⠀⠀กลุ่มคำนี้ไม่ได้เกิดจากน้องแมวนอนทับแป้นพิมพ์แต่อย่างใด ทั้ง 71 ตัวอักษรที่เรียงรายอยู่นี้ คือชื่อทางวิทยาศาสตร์ของแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พบได้ในดินจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง บนเกาะแองเกิลซีย์ ประเทศเวลส์ ด้วยอานิสงส์ของชื่อหมู่บ้านที่มีตัวอักษรถึง 58 ตัว เมื่อนำไปต่อท้ายกับชื่อสกุล (Genus) จึงทำให้ชื่อของเจ้าแบคทีเรียตัวนี้กลายเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ยาวที่สุดในโลก (อย่างไม่เป็นทางการ) ไปโดยปริยาย 

⠀⠀⠀แม้ไม่ใช่ทุกชื่อจะยาวถึง 71 ตัวอักษร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า #ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ของสิ่งมีชีวิตหรือสารเคมี ส่วนใหญ่จะค่อนข้างยาวและออกเสียงเรียกได้ยาก ตัวอย่างเช่น Passer montanus malaccensis A. Dubois ที่มองเผิน ๆ เหมือนชื่อของสิ่งมีชีวิตสายพันธ์หายาก แต่แท้จริงแล้วมันคือชื่อทางวิทยาศาสตร์ของนกกระจอกบ้านที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทยของเรานี่เอง 

.

       ทำไม ‘ชื่อทางวิทยาศาสตร์’ ต้องยาวขนาดนี้? 

⠀⠀⠀ที่มาของชื่อยาวจนน่าฉงนนี้ เกิดจากความต้องการที่จะระบุชื่อให้สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์เราค้นพบนับล้านชนิดบนโลก จึงเกิดเป็นโครงสร้างการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific name ซึ่งมีด้วยกันหลายระดับ แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน คือระบบการตั้งชื่อแบบทวินาม (Binomial nomenclature) ประกอบด้วยการรวมกันของ 2 ส่วนสำคัญ คือ 

1) ชื่อสกุล (Genus) เป็นคำที่บ่งบอกลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตประเภทนั้น ๆ เช่น สกุล Felis หมายถึงแมว สกุล Homo หมายถึงมนุษย์ เป็นต้น และ 2) คำระบุชนิด (Specific epithet) ซึ่งมักจะเป็นคำคุณศัพท์แสดงลักษณะเด่น อาทิ สี ถิ่นกำเนิด รูปพรรณสัณฐาน หรือบางครั้งอาจมีการใส่ชื่อบุคคลผู้ค้นพบเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตั้งพ่วงต่อเข้าไปด้วย นั่นทำให้บางครั้ง เมื่อรวมกันออกมาแล้วจึงได้เป็นชื่อที่ค่อนข้างยาว 

ยกตัวอย่าง ชื่อของเจ้านกกระจอกบ้านตัวจิ๋ว Passer montanus malaccensis A. Dubois ส่วนหน้า Passer คือชื่อสกุล บ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตนี้อยู่ในสกุลนกกระจอก ส่วนหลัง montanus คือคำระบุชนิด พ่วงด้วยคำระบุชนิดย่อย malaccensis ซึ่งยกมาจากถิ่นค้นพบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนปิดท้ายด้วย A. Dubois ซึ่งเป็นชื่อของผู้จำแนกชนิด เรียกว่าตั้งกันมาแบบจัดเต็มอัตราเลยทีเดียว (ฮ่า) 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่ชื่อยาวเหยียดเท่านั้น ยังมีชื่อทางวิทยาศาสตร์สั้น ๆ อย่าง Ia io (ค้างคาวชนิดหนึ่ง พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) หรือ Yi qi (ไดโนเสาร์ในยุค Jurassic) อีกด้วย

.

       แล้วทำไม ‘ชื่อทางวิทยาศาสตร์’ ถึงอ่านยาก?

⠀⠀⠀เชื่อว่าหลายคนรู้สึกเหมือนกันว่าชื่อทางวิทยาศาสตร์อ่านยากกว่าชื่อภาษาอังกฤษทั่วไป นั่นก็เพราะมันถูกตั้งโดยใช้ ‘ภาษาละติน’ นั่นเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า ภาษาละตินเป็นภาษาที่ตายแล้ว ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเป็นภาษาที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการทางภาษาเกิดขึ้นอีก ทำให้เหมาะกับการนำมาตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด เพราะชื่อที่ตั้งขึ้นจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงน้อยมาก 

.

      ‘ชื่อทางวิทยาศาสตร์’ นั้น สำคัญไฉน?

⠀⠀⠀ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ถูกใช้ในฐานะ ‘ชื่อสากล’ ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยทั่วโลก นั่นก็เพราะสิ่งมีชีวิตหนึ่งชนิด มีชื่อเรียกที่หลากหลายมาก ทั้งในภาษาท้องถิ่น หรือภาษาสามัญที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งอาจสร้างความสับสนได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีชื่อกลางเป็นสากลที่สามารถระบุได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าหมายถึงสิ่งมีชีวิตชนิดใด เพื่อลดความสับสนเมื่อต้องอ้างอิงในงานวิชาการ สร้างความสะดวกในการศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต อีกทั้งยังช่วยให้การจัดกลุ่มจำแนกสิ่งมีชีวิตเป็นระบบระเบียบมากขึ้นอีกด้วย 

.

⠀⠀⠀เจ้าชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่น่าฉงนนี้ มีที่มาและข้อดีในตัวเอง ต่อจากนี้หากพบเห็นกลุ่มคำอ่านยากที่ประกอบด้วยตัวอักษรเรียงต่อกันยาวเหยียด อย่าง Canis lupus familiaris หรือ Anas platyrhynchos domesticus ให้ลองเดาว่านั่นอาจเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของน้องหมาจุ๊มเหม่ง หรือเจ้าเป็ดบ้านทั่วไป ไม่ใช่ใครเผลอทับแป้นพิมพ์โดยบังเอิญอย่างที่เราเข้าใจก็ได้