แค่ก้อนหินก็ขายได้150ล้าน! ‘Pet Rock’ กรณีศึกษาธุรกิจเปลี่ยนก้อนหินเป็นสัตว์เลี้ยง

แค่ก้อนหินก็ขายได้150ล้าน! 
‘Pet Rock’ กรณีศึกษาธุรกิจเปลี่ยนก้อนหินเป็นสัตว์เลี้ยง 

----------------

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นเทรนด์ของศิลปินเกาหลีหลายคนที่ ‘เลี้ยงหิน’ เป็นสัตว์เลี้ยง ใช่แล้ว อ่านไม่ผิดหรอก พวกเขาเลี้ยงหินที่เป็นก้อนกันจริง ๆ ดูแลประคบประหงมไม่ต่างจากน้องหมา-น้องแมวเลยทีเดียว ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นภาพที่น่ารักและสร้างรอยยิ้มได้ไม่น้อย ไม่ใช่เพียงแค่ศิลปินเท่านั้น กระแสการเลี้ยง ‘#น้อนก้อนหิน’ ยังลามมาสู่คนทั่วไป และดูเหมือนจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่รู้หรือไม่ว่า เทรนด์การมีก้อนหินเป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่มีมานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) โดย Copywriter วัย 38 ปี ชื่อ แกรี ดาห์ล (Gary Dahl) ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ‘Pet Rock’ สัตว์เลี้ยงจากก้อนหิน ซึ่งทำรายได้ถึง 150 ล้านบาท ภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น! 

อะไรคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจสุดแปลกนี้ และปัจจัยความสำเร็จมาจากไหน วันนี้ STARTUP STORY จะพาทุกคนไปถอดรหัสกัน! 

.

        จุดเริ่มต้นของ ‘น้อนก้อนหิน’ 

จุดเริ่มต้นมาจากมุกตลกในปาร์ตี้ ที่เพื่อนของแกรีหลายคนบ่นเรื่องความยุ่งยากในการเลี้ยงสัตว์ ขณะที่แกรีบอกว่าเขามี ‘สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แบบ (The Perfect Pet)’ ที่ไม่ต้องทำอะไรวุ่นวายเลย นั่นคือ ‘#ก้อนหิน’ ซึ่งสร้างเสียงหัวเราะได้เป็นอย่างดี

สำหรับแกรี เขาไม่ปล่อยให้มันเป็นเพียงมุกตลกเท่านั้น เขานำเรื่องนี้มาต่อยอดเป็นไอเดียธุรกิจ โดยนำก้อนหินจากสวนหลังบ้าน ริมทาง หรือตามชายหาด มาทำความสะอาด เพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เป็นกล่องลูกฟูก รองด้วยฟางแห้ง เจาะรูสำหรับหายใจ เลียนแบบกล่องสำหรับใส่สัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก แล้วอาศัยทักษะในการเขียนที่สร้างสรรค์อ่านสนุกของเขา ออกแบบคู่มือสำหรับเลี้ยงน้องก้อนหินขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นวิธีฝึกให้เชื่อง เชื่อฟังคำสั่ง รวมถึงระบุความสามารถพิเศษของน้องก้อนหินว่าทำอะไรได้บ้าง จากนั้นจึงเปิดตัวแบรนด์ของเขาในนาม ‘Pet Rock’ 

.

        ความสำเร็จของ ‘Pet Rock’ 

แน่นอนว่าสัตว์เลี้ยงก้อนหินของแกรีเป็นไวรัลทันที สามารถขายได้ 1.5 ล้านก้อน ในเวลา 6 เดือนเท่านั้น และกลายเป็นของขวัญที่คนซื้อฝากกันเยอะที่สุดในช่วงคริสต์มาส เพราะสร้างเสียงหัวเราะและคลายเครียดได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในปี 1975 ต้องการเป็นอย่างมากในภาวะช่วงหลังสงคราม นิตยสารชื่อดังอย่าง Time ถึงกับเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “1% product and 99% marketing genius (1% สินค้า และ 99% อัจฉริยะภาพทางการตลาด)” เพื่อยกย่องความอัจฉริยะของแกรี 

แกรีกล่าวว่า สิ่งที่เขาขายให้ผู้คนไม่ใช่ก้อนหิน แต่เป็นการขายความสุขที่จะเกิดจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ถึงแม้จะเป็นที่น่าเสียดายว่ากระแสของ Pet Rock จะ ‘มาไวไปไว’ แต่ปรากฎการณ์ความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากทีเดียว 

ปัจจุบัน Pet Rock ถูกถือครองลิขสิทธิ์โดย Rosebud Entertainment และสามารถหาซื้อได้ในเว็บ Amazon ด้วยราคา 19.95 เหรียญ (ราว 670 บาท) ใครสนใจอยากได้สัตว์เลี้ยงเชื่อง ๆ เลี้ยงง่าย แถมไม่วอแว สามารถไปตำได้เลย 

.

        ‘Pet Rock’ กำลังบอกอะไรกับเรา 

หากมองเผิน ๆ เราอาจคิดว่าความสำเร็จของ Pet Rock มาจากไอเดียสุดแสนบรรเจิดของแกรีล้วน ๆ แต่แท้จริงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นแวดล้อมอีกมากมายที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจนี้สร้างปรากฎการณ์ได้ หนึ่งในนั้นคือ ‘ช่วงเวลาที่เหมาะสม (Timing)’ เนื่องจาก Pet Rock เปิดตัวในช่วงเวลาที่ผู้คนต้องการความบันเทิงในชีวิต เท่ากับว่าเป็นสินค้าที่โผล่ขึ้นมาตรงตามความต้องการของตลาดได้พอดิบพอดี เมื่อมาผนวกเข้ากับความสามารถในการนำเสนอสินค้าของแกรี จึงเกิดเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ถึง 150 ล้านบาท

พูดง่าย ๆ ว่า ไอเดียที่ดี เมื่อมาพร้อมกับการนำเสนอที่ถูกทาง และช่วงเวลาที่เหมาะสม จากก้อนหินในสวนหลังบ้าน ก็สามารถกลายเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ สุดแปลกที่สร้างความสุขให้กับผู้คนได้

.

ไอเดีย ‘สัตว์เลี้ยงสมมติ’ ไม่ได้มีแค่ Pet Rock เท่านั้น ยังมีมาให้เห็นเป็นกระแสอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘ทามาก็อตจิ’ สัตว์เลี้ยงแสนฮิตของเด็กยุค Y2K เจ้าสาหร่ายจิ๋วลอยน้ำ ‘มาริโมะ’ แสนน่ารักที่เชื่อว่าช่วยเสริมดวง หรือแม้แต่ ‘น้อนก้อนหิน’ เอง ที่วนกลับมานิยมอีกครั้ง ก็พอจะทำให้เราเห็นภาพได้กว้าง ๆ ว่า ไอเดียสินค้าสัตว์เลี้ยงสมมตินี้ ยังมีกลุ่มคนที่ต้องการอยู่เสมอ จึงนับว่าเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ และน่าต่อยอดมาเป็นธุรกิจไม่น้อย