เข้าคูหายังต้องใช้ปากกาไหม? เมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกนำมาใช้กับ "การเลือกตั้ง"

เข้าคูหายังต้องใช้ปากกาไหม? 
เมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกนำมาใช้กับ "การเลือกตั้ง" 

__________

       ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ที่ถือว่าเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่านั้นที่มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างดีสำหรับการหาเสียง แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้งก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเลือกตั้งในครั้งนี้เช่นกัน

⠀⠀⠀และเมื่อไม่นานนี้ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดเลือกตั้งในกรุงเทพฯ โดยผุดไอเดียนำระบบ AI มาใช้ในการนับคะแนน โดยการถ่ายภาพกระดานนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ส่งเข้ามายังศูนย์รวมการนับคะแนนของเขต เพื่อให้ระบบ AI ทำการประมวลผลออกมาเป็นตัวเลข จะทำให้การนับคะแนนรวดเร็วขึ้นและถูกต้องตามจำนวนคนที่มาใช้สิทธิตรงกับบัตรลงคะแนน ช่วยป้องกันปัญหาบัตรเขย่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองการใช้งาน หากระบบสามารถทำงานได้อย่างเสถียรก็จะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่ออนุญาตให้มีการใช้งานจริง 

.

⠀⠀⠀นับเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์ไม่น้อย ในการนำเอาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการนับคะแนนเสียง ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการยกระดับการเลือกตั้งให้รวดเร็ว แม่นยำ เป็นธรรม และโปร่งใส วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาดูกันว่าที่ผ่านมา นอกจากบัตรและปากกาแล้ว มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมอะไรบ้างที่ถูกนำมาใช้กับการเลือกตั้ง 

.

.

        การใช้ระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (E-Voting) 

⠀⠀⠀E-voting คือการนำเทคโนโลยีหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการลงคะแนนเลือกตั้งหรือนับคะแนนเสียง เพื่อให้มีความสะดวกและเร็วกว่าการใช้กระดาษ ลดการลงคะแนนที่ไม่ถูกต้องหรือบัตรเสีย นับคะแนนได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง และยังช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (Human error) อีกด้วย

.

.

ซึ่ง E-voting ที่มีใช้งานกันในปัจจุบัน มีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่

⠀⠀⠀การใช้เครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่หน่วยเลือกตั้ง (Electronic Voting Machine: EVM) ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถกดปุ่มลงคะแนนเสียงผ่านเครื่อง EVM โดยตรงที่หน่วยเลือกตั้ง ทั้งยังสามารถตรวจสอบและนับคะแนนเสียงได้ไวขึ้นและแม่นยำมากขึ้นด้วย ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือ การเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2019 ของประเทศอินเดีย ที่มีผู้ไปใช้สิทธิถึง 900 ล้านคน แต่ใช้เวลานับคะแนนเสียงเพียง 3 – 4 ชั่วโมง อีกทั้งเมื่อตรวจสอบกับระบบยืนยันการลงคะแนนของประชาชน พบว่าคะแนนเสียงตรงกัน 100% และไม่มีบัตรเสียแม้แต่ใบเดียว

ซึ่งประเทศไทยของเราเองก็มีเครื่อง Thai Voting Machine ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบการใช้งานในการเลือกตั้งระดับองค์กร ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งระดับชาติ

.

.

⠀⠀⠀อีกรูปแบบหนึ่งคือ การลงคะแนนทางทางไกลหรือผ่านอินเทอร์เน็ต (i-voting)  ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มลงคะแนนจากที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องเดินทางมายังหน่วยเลือกตั้ง ยกตัวอย่าง ประเทศเอสโตเนียที่ใช้การลงคะแนนแบบ i-voting ผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลักและประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่ง i-voting เหล่านี้ ส่วนใหญ่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาช่วยรองรับในการตัดตัวกลางซึ่งอาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้ง และลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนในระบบ ไปจนถึงป้องกันการแอบอ้างตัวตนและการโกงผลคะแนน

ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีการอนุญาตให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นผ่านแฟ็กซ์ อีเมล หรือเว็บไซต์ รวมไปถึงแอปพลิเคชัน เรียกว่าไม่ต้องพึ่งพาบัตรและปากกากันอีกต่อไปเลยทีเดียว

.

.

⠀⠀⠀นอกจากกระบวนการลงคะแนนแล้ว ยังมีการใช้เทคโนโลยีในระบบการตรวจสอบตัวตนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยเช่นกัน อาทิ การใช้บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางในการสแกนเข้าระบบ การใช้เทคโนโลยีสแกนลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งจะช่วยป้องกันการซ้อนสิทธิในการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี

.

.

⠀⠀⠀เทคโนโลยีกับการเลือกตั้งก็ไม่ได้จบอยู่เพียงแค่ในกระบวนการลงคะแนนและนับคะแนนเสียงเท่านั้น ยังรวมไปถึงในขั้นตอนของการหาเสียงอีกด้วย เราจะเห็นได้ชัดเจน จากการที่หลายพรรคการเมืองมีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน จากเมื่อก่อนที่ผู้สมัครจะเดินมาหาเสียงที่หน้าบ้าน ตอนนี้เดินมาหาเราถึงหน้าจอทีวี คอมพิวเตอร์ และสมาร์ตโฟนเลยทีเดียว

.

.

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ยกระดับการเลือกตั้งจะล้ำสมัยเพียงใด แต่หัวใจสำคัญยังอยู่ที่ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อระบบการลงคะแนนและการนับคะแนนเสียง ถ้าไม่มีใครไว้ใจการเลือกตั้งหรือนับคะแนนเสียงด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็เปล่าประโยชน์ นั่นจึงเป็นโจทย์ที่หน่วยงานผู้จัดการเลือกตั้งควรจะต้องทำให้สำเร็จเสียก่อน เพื่อให้เป็นการเลือกตั้งที่ free และ fair กับทุกคนจริงๆ

⠀⠀⠀แม้จะเป็นที่น่าเสียดายว่าการเลือกตั้งในปี 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ ประเทศไทยของเรายังคงใช้ระบบการกาลงคะแนนบนบัตรเลือกตั้งเหมือนเช่นเคย แต่ไอเดียการเริ่มต้นนำเอา AI มาใช้ในการตรวจสอบนับคะแนนของคุณชัชชาติ ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทยที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว 


ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก

https://www.truedigital.com/

https://workpointtoday.com/election-bangkok-2/

https://democracyxinnovation.com/2023/03/27/kpixnationtv-เทคโนโลยีและนวัตกรรม/