บริหารความคิดไปพร้อมธุรกิจอย่างสร้างสรรค์

บริหารความคิดไปพร้อมธุรกิจอย่างสร้างสรรค์
ด้วย Creative Thinking
----------
STARTUP เป็นธุรกิจที่มาพร้อม “ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์” อย่างแยกไม่ขาด เรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของธุรกิจรูปแบบนี้เลยทีเดียว ด้วยว่าธุรกิจ Startup มักเริ่มจากจุดเล็ก ๆ อย่างความต้องการที่จะแก้ปัญหาบางอย่าง และหลายครั้งที่ปัญหาเหล่านั้นถูกแก้ไขได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ นี่จึงเป็นทักษะสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจยุคใหม่จึงจำเป็นต้องมีติดตัวไว้อย่างยิ่ง 
⠀⠀⠀“การคิดเชิงสร้างสรรค์” หรือ “Creative Thinking” คือ ความสามารถในการสร้างหรือประมวลความคิดใหม่ ๆ ซึ่งอาจไปได้ทั้งรูปแบบของแนวคิด วิธีการ หรือการเขียนออกมาเป็นภาพ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการ “คิดนอกกรอบ” เดิมที่มีอยู่ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งมีบางส่วนที่เข้าใจว่า Creative Thinking เป็นพรสวรรค์ ไม่ใช่สิ่งที่จะมีได้ทุกคนและเป็นเรื่องยากที่จะสร้างมันขึ้นมา แต่นั่นไม่ใช่เลย Creative Thinking เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ เพราะมันไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว และแต่ละคนก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป 
.
.
ถึงตรงนี้ เชื่อว่าชาวสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ มีต้นทุนเรื่อง Creative Thinking ด้วยกันอยู่แล้ว แต่มีบางครั้งที่ความคิดสร้างสรรค์และไอเดียดี ๆ ของเรานั้นถูกทุ่มใช้ไปหมดในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ แต่พอธุรกิจกำลังไปได้ดี เริ่มมองเห็นความมั่นคง กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่ลดน้อยถอยลงคือความคิดสร้างสรรค์ อาจด้วยปัจจัยต่าง ๆ หรือข้อจำกัดนานา 
⠀⠀⠀ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากมาเสนอแนวคิดเล็ก ๆ ให้ผู้ประกอบการ Startup สามารถฝึกฝนบริหารความคิดสร้างสรรค์ให้กับตัวเองและทีม ไปพร้อม ๆ กับการบริหารธุรกิจ Startup ให้เติบโตไปสู่เป้าหมาย
.
.
 สร้างวัฒนธรรมของการ “ฟัง” ให้กับทีม
หลายครั้งที่ความคิดดี ๆ ในการแก้ปัญหาและทำธุรกิจ มักเกิดขึ้นเมื่อมีการระดมสมอง (Brainstorm) เมื่อมีผู้พูด คนอื่นควรรับฟังอย่างตั้งใจ การฟังจะช่วยให้แต่ละคนที่ทำหน้าที่ต่างกัน ได้เรียนรู้มุมมองของกันและกัน ซึ่งนำไปสู่การขยายขอบเขตแนวคิดและแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในงานหรือธุรกิจ
 ปล่อยให้ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” บ้าง
หาช่วงเวลาที่ปล่อยใจคิดนอกกรอบไปเรื่อยบ้าง โดยไม่ต้องสนใจความเป็นไปได้ใดใดทั้งสิ้น จากนั้นค่อยกลับมาดูว่าสิ่งที่เราคิดแต่ละอย่าง มีอะไรบ้างที่สามารถนำไปประยุกต์ได้
 ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ “เป็ด”
นั่นคือการเรียนรู้หลากหลายศาสตร์ อย่างละนิดละหน่อย พอติดตัวไว้ เพราะบางครั้งความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้แก้ปัญหาก็มาจากการที่เราได้ประยุกต์หล่อหลอมประสบการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ยิ่งเรามีความรู้รอบตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งมีวัตถุดิบให้สามารถดึงทักษะในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น
 ใช้ตัวช่วย “เปลี่ยนคำถาม” 
หากพบเจอปัญหาหรือโจทย์ที่ไม่สามารถหาคำตอบให้กับมันได้ ลองเปลี่ยนมุมมอง แล้วตั้งคำถามใหม่ให้กับปัญหาเดิมดู ยกตัวอย่างจาก “ลูกค้าจะซื้อผลิตภัณฑ์หรือไม่?” เป็น “ลูกค้าจะต้องการผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่?” หากโฟกัสที่ “ซื้อ” เราจะมองแต่ที่ยอดขาย แต่หากโฟกัสที่ความ “ต้องการ” ของลูกค้า เราจะกลับไปมองที่ตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสินค้าเพื่อดึงดูดความอยากซื้อต่อไปได้
 สร้างเงื่อนไข “ไฟลนก้น”
หลายครั้งที่ความคิดสร้างสรรค์มักเกิดขึ้นเมื่อเราตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีข้อจำกัด เราจึงควรสร้างสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขที่เหมาะสมให้ตัวเองหรือลูกทีม อาจเป็นด้วยเรื่องของเวลา หรือข้อจำกัดด้านทรัพยากร เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการระดมสมองและดึงศักยภาพออกมา
.
.
⠀⠀⠀นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เรานำมาฝากกัน ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้เกิด Creative Thinking ไม่ว่าจะเป็นการหาช่วงเวลาผ่อนคลายระหว่างงาน หาเวลาออกไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายบ้าง หรือแม้กระทั่งการดูหนัง ฟังเพลง และกินของอร่อย ก็ช่วยได้มากเช่นกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีสิ่งที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ไม่เหมือนกัน เราอาจต้องลองหลาย ๆ วิธี เพื่อให้เจอแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเราเอง ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการคนเก่งทุกคน
__________
สำหรับใครที่สนใจอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหน ทาง STeP ของเรามีโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ Basecamp24 ที่พร้อมจะสนับสนุนทั้งธุรกิจ Startup และ SMEs ของคุณอย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ธุรกิจ ไปจนถึงการจับคู่แหล่งทุน
สามารถติดต่อรับข่าวสาร หรือสอบถามเพิ่มเติมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Basecamp24 ได้ที่ Facebook Fanpage: Basecamp24 หรือเดินทางเข้ามาที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ได้เลย! 


ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก