กาลครั้งหนึ่ง เมื่อโลกเพรียกหา AI แต่วัยเด็กยังต้องการเพียงหนังสือนิทานเล่มเดิม

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อโลกเพรียกหา AI
แต่วัยเด็กยังต้องการเพียงหนังสือนิทานเล่มเดิม

__________


“คุณเคยมีหนังสือเล่มโปรดในวัยเด็กไหม” 


⠀⠀⠀หนังสือที่ตอนนี้คุณอาจจำชื่อไม่ได้ แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งของมันยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคุณ อาจเป็นเนื้อเรื่องที่สนุกจนลืมไม่ลง อาจเป็นตัวเอกที่คุณชื่นชอบอย่างยิ่ง อาจเป็นลายเส้นหรือสีสันของภาพประกอบที่สวยงาม อาจเป็นคำคล้องจองที่คุณสามารถทวนได้ทั้งประโยค อาจเป็นกลิ่นหรือสัมผัสของตัวเล่ม หรืออาจเป็นเสียงของใครสักคนที่เคยอ่านให้คุณฟังก่อนนอน 

ความน่าอัศจรรย์หนึ่งของการอ่านหนังสือ คือ มันสามารถส่งผลต่อความทรงจำ และการทำความของเข้าใจของคนเราได้มากเกินกว่าเราจะรู้ตัวเสียอีก 

Dr. Seuss ศิลปินผู้สร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กระดับโลก เคยกล่าวไว้ว่า “ตราบใดที่เธออ่าน เธอยิ่งรอบรู้ ตราบใดที่เธอเรียนรู้ เธอจะไม่มีวันหยุดอยู่กับที่” (The more that you read, the more things you will know. The more that you learn, the more places you will go.) สื่อถึงความสำคัญของการอ่าน ที่ไม่ว่าวันเวลาจะล่วงเลยมาแล้วกี่สิบปี หลายคนก็ยังเห็นด้วยกับประโยคดังกล่าวนี้อยู่ดี 


⠀⠀⠀เราทราบกันดี (จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา) ว่าการเรียนรู้ด้วยการอ่านนั้น ส่งผลดีสำหรับเด็กได้มากกว่าการดูภาพเคลื่อนไหว เพราะการอ่านช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ทั้งในด้านทักษะภาษา ความคิดสร้างสรรค์ การตั้งคำถาม การฝึกสมาธิ รวมถึงพัฒนาการทางร่างกายของกล้ามเนื้อมัดเล็กจากกับหยิบจับตัวเล่ม และการกรอกตาไล่อ่าน “หนังสือเด็ก” จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่วางใจ เลือกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชิ้นแรก ๆ สำหรับลูกหลาน 

อย่างไรก็ตาม ในโลกศตวรรษที่ 21 ของเรานี้ ที่วิทยาการสร้างความเป็นไปได้ต่าง ๆ มากมาย มนุษย์ใช้ชีวิตกลืนอยู่กับเทคโนโลยีและ AI อย่างแยกไม่ขาย แทบทุกคนมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กบางคนก็มีอุปกรณ์เหล่านี้เป็นของตัวเองเช่นกัน 

ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องไม่ดีแต่อย่างใด เมื่อมนุษย์ตัวน้อย ๆ เหล่านี้เกิดมาท่ามกลางนวัตกรรมล้ำสมัย การเรียนรู้ที่จะใช้งานและเติบโตไปกับมันก็สำคัญและจำเป็นสำหรับพวกเขามากเช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สื่อหนังสือเด็กเองก็ปรับตัว แปรเปลี่ยนจากรูปเล่มที่จับต้องได้ ไปอยู่ในรูปแบบ E-Book หนังสือเสียง เกมที่มีเนื้อหานิทานสอดแทรก หรือการอ่านผ่านแว่น AR 


แต่ก็ต้องยอมรับโดยดุษฎี ว่าสื่อนวัตกรรมสมัยใหม่เหล่านี้ ก็ยังทดแทนคุณค่าที่หนังสือมอบให้กับเด็กไม่ได้อยู่ดี


⠀⠀⠀มีการศึกษาจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าคนเราจะทำความเข้าใจการอ่านผ่านหนังสือได้ดีกว่าการอ่านผ่านหน้าจอทุกรูปแบบ หลัก ๆ เลยนั่นก็เป็นเพราะ สมองของมนุษย์เรา ไม่ได้มีส่วนสำหรับรองรับการอ่านโดยเฉพาะ เราจะทำความเข้าใจการอ่าน เช่นเดียวกับที่ทำความเข้าใจวัตถุต่าง ๆ รอบตัว เราจดจำข้อมูลผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันในหน้ากระดาษนั้น ๆ นั่นทำให้การอ่านบนหนังสือที่มีการแยกหน้าซ้ายขวา มีบน-ล่าง มีเหลี่ยมมุม ทำให้สมองของเราสามารถโยงความเข้าใจของเนื้อหาเข้ากับพื้นที่ของหน้ากระดาษได้ดีกว่าการอ่านที่แสดงผลซ้ำ ๆ บนพื้นที่หน้าจอเดิม  

⠀⠀⠀สอง คือ การอ่านในรูปแบบดิจิทัล ที่อาจมีทั้งภาพ เสียง ตัวหนังสือ และการเคลื่อนไหว เป็นการระดมยิงข้อมูลที่มากเกินไปสำหรับเด็ก ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่สามารถโฟกัสส่วนใดได้เลย ต่างจากหนังสือที่รวบเอาพื้นที่ความรู้-ความเข้าใจไว้บนหน้ากระดาษ เด็กมีอิสระในการพลิกหน้าเพื่ออ่านต่อไปด้วยจังหวะความเข้าใจของตัวเอง 

⠀⠀⠀สาม เด็กโดยเฉพาะในวัยเด็กเล็ก จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 หนังสือที่เป็นรูปเล่ม จับต้องได้ พลิกหน้ากระดาษได้ สามารถดมกลิ่น หรือเอาเข้าปากได้อย่างไม่เป็นอันตราย จะช่วยในการเรียนรู้ของเด็กได้มากกว่า และที่สำคัญคือช่วยส่งเสริมให้เกิดจินตนาการได้มากกว่าการสื่อสารแบบสูตรสำเร็จบนสื่อดิจิทัล

⠀⠀⠀และ สี่ หนังสือให้พื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง สำหรับเด็กเล็กที่ยังอ่านด้วยตัวเองไม่ได้ การอ่านหนังสือก็จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง เด็กจะเรียนรู้ภาษาได้ดีผ่านการเชื่อมโยงการออกเสียงกับตัวหนังสือ นั่นหมายความว่าเด็กจะอ่านออกได้เร็วหากมีคนอ่านให้ฟัง และนี่ยังรวมไปถึงการอ่านเพื่อสายสัมพันธ์ของครอบครัวอีกด้วย 


⠀⠀⠀ถึงตรงนี้ เราจึงขอถือโอกาสเนื่องในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ และวันหนังสือเด็กสากล พาหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ทรงคุณค่าระดับโลกทั้ง 5 เล่ม มาแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่กำลังมองหาหนังสือเด็กดี ๆ ให้ลูกหลานของคุณได้ฝึกการอ่านสนุก ๆ 

หนอนจอมหิว (The Very Hungry Caterpillar, 1969) โดย Eric Carle

⠀⠀⠀หนังสือภาพสำหรับเด็กที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคภาพตัดแปะ ที่ให้สีสันสดใสช่วยดึงความสนใจของเด็ก อีกทั้งเนื้อเรื่องยังพูดถึงวงจรชีวิตของหนอนตัวน้อยจนกว่าจะเติบโตเป็นผีเสื้อ โดยระหว่างทางแทรกความรู้เรื่องการนับเลข การเรียกวัน และชื่อของผลไม้ตามสีสัน เรียกว่าอัดแน่นด้วยคุณภาพ

The Cat in the Hat (1957) โดย Dr. Seuss

⠀⠀⠀หนังสือโดยเจ้าของวลีที่เราเปิดกันในตอนต้นบทความ เกี่ยวกับเจ้าเหมียวที่เข้ามาป่วนในบ้านของสองพี่น้องและชวนเล่นสนุกด้วยกัน ซึ่งจุดเด่นของหนังสือ Dr. Seuss คือการหยิบเอาคำศัพท์ที่เด็กในวัย 3 - 7 ปี ควรจะได้เรียนรู้มาร้อยเรียงเป็นคำคล้องจองให้ฝึกอ่านและท่องจำได้ง่าย อีกทั้งเนื้อหายังช่วยสอนเด็กเกี่ยวกับการเล่นสนุก ทำบ้านรก แล้วก็ต้องเก็บกวาดบ้านด้วยตัวเองด้วย 

ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย (Where the Wild Things Are, 1963) โดย Maurice Sendak

⠀⠀⠀หนังสือภาพสำหรับเด็กขึ้นหิ้งที่ควรค่าแก่การซื้อเก็บไว้อ่าน พูดถึงการผจญภัยในดินแดนเจ้าของร้ายของเด็กดื้อคนหนึ่ง ที่จะพาน้อง ๆ หนู ๆ ผู้อ่านสนุกไปกับการเที่ยวเล่นทั้งหลาย แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเล่นสนุกอย่างไร ก็ต้องกลับมาหาความอบอุ่นของแม่อยู่ดี เป็นหนังสือที่ช่วยสอนถึงความสำคัญของครอบครัว ไม่เฉพาะกับเด็กเท่านั้น แต่หมายถึงกับผู้ปกครองเองก็เช่นกัน

งานแรกของมี้จัง (1996) โดย โยริโกะ ษุษุอิ และ อาคิโกะ ฮายาชิ

⠀⠀⠀หนังสือภาพแสนคลาสสิกที่ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเด็กต่างแนะนำ ด้วยภาพประกอบแสนน่ารัก ใส่ใจรายละเอียดในทุกมิติ และเนื้อหาที่เล่าถึงการผจญภัยเล็ก ๆ ของมี้จัง ซึ่งรับหน้าที่ออกไปซื้อของคนเดียวเป็นครั้งแรก ถือเป็นงานใหญ่และเต็มไปด้วยความตื่นเต้นสำหรับเด็กหญิงวัย 5 ขวบ 

กระดุ๊ก กระดิ๊ก กระด๊อก กระแด๊ก โดย เกริก ยุ้นพันธ์, ปรีดา ปัญญาจันทร์ และชีวัน วิสาสะ

⠀⠀⠀หนังสือภาพสำหรับเด็กที่ร่วมกันสร้างสรรค์โดย 3 ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเด็กของไทย เล่าถึงยายเช้าที่ชอบหาว หัวเราะ หรือจาม โดยอ้าปากกว้าง จนทำให้มีแมลงกระโดดเข้าไปในปาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องวุ่น ๆ นับเป็นหนังสือที่สอนเรื่องมารยาทสำหรับเด็กที่สนุกเสียจนต้องมีเก็บไว้ให้เด็ก ๆ ได้อ่านตามเสียง กระดุ๊ก กระดิ๊ก กระด๊อก กระแด๊ก เลยทีเดียว


⠀⠀⠀ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำว่า “วงการหนังสือกำลังจะตาย เพราะคนอ่านน้อยลง” ซึ่งไม่จริงเลยสักนิด การที่คุณอ่านมาถึงตรงนี้ เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีเลยทีเดียว และรู้หรือไม่ว่านิสัยรักการอ่านของเด็ก ๆ นั้น 40% มาจากการเอาผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุนี้เราก็คงวางใจได้ว่า หนังสือและหนังสือเด็กก็ไม่ตายจากไปไหน อย่างน้อย ๆ ก็คงมี “คุณ” และเหล่าเด็กน้อยผู้รักการอ่านที่จะคอยสนับสนุนมันอยู่ต่อไป 


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #Childrensbooks #วันหนังสือเด็ก #หนังสือเด็ก #หนังสือภาพสำหรับเด็ก