อยากลดหวาน แต่งดได้ไม่นานก็วีนฉ่ำ : วิทยาศาสตร์ว่าด้วยรสหวานและความเครียด

อยากลดหวาน แต่งดได้ไม่นานก็วีนฉ่ำ 
วิทยาศาสตร์ว่าด้วยรสหวานและความเครียด

____________


เหมือนเป็นเรื่องต้องคำสาปของคนที่เกิดในประเทศที่อาหารการกินรสชาติดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างประชาชนชาวไทยอย่างเรา ๆ ซึ่งไม่ว่าจะหันซ้าย หันขวา หกคะเมนตีลังกาไปทางไหน ก็จะเจอของกินอร่อย ๆ ชวนให้ชิมอยู่ไม่ขาด โดยเฉพาะของหวานและเครื่องดื่มชงที่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเรากันไปแล้ว

ขนม ของหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่ม น้ำอัดลม น้ำชงต่าง ๆ  ได้กินแต่ละที มันช่างดีต่อใจเหลือเกิน โดยเฉพาะเวลาที่เหนื่อยล้าหรือเครียด

⠀⠀⠀แต่ร้อยทั้งร้อย เราต่างรู้อยู่แก่ใจว่าหากรับประทานในปริมาณมาก ๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกาย เกิดเป็นความกังวลใจจนนำมาสู่เทรนด์เล็ก ๆ ของชาวโซเชียลฯ ที่เชิญชวนกันลดกินหวานเพื่อสุขภาพ แต่กลับกลายเป็นว่าลดไปได้แค่ไม่กี่วันก็เกิดอาการเครียดยิ่งขึ้น หงุดหงิดง่าย เรียกว่าพร้อมจะเริ่มสงครามกับคนรอบตัวได้ทุกเมื่อ 

การจะเริ่มลดกินหวานโดยที่ไม่ให้ตัวเองไปกินหัวคนข้าง ๆ อาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจความสัมพันธ์เล็ก ๆ ของสองสิ่งที่เรียกว่า ... 


“รสหวาน” และ “ความเครียด”

⠀⠀⠀มีงานศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า รสหวานส่งผลต่อระบบการให้รางวัลของสมอง โดยมันจะไปกระตุ้นกลไกของสมองส่วนการให้รางวัลตนเอง ผลิตและหลั่งสารสื่อประสาท ชื่อ โดปามีน (Dopamine) ออกมา ส่งผลให้เรารู้สึกอิ่มเอม พึงพอใจ และปลดปล่อยอารมณ์ด้านลบชั่วขณะนั้นไปได้ 

นึกภาพตามง่าย ๆ ก็เหมือนตอนที่เราได้กินของหวานฉ่ำ ๆ เข้าไป แล้วรู้สึกฟินจนหายเครียดนั่นล่ะ 

⠀⠀⠀อย่างไรก็ตาม กลไกที่ว่านี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพติดด้วยเช่นกัน ยิ่งร่างกายของเราได้รับรสหวานอย่างต่อเนื่อง สมองของเราก็จะโดนแฮคให้สามารถรับรสหวานได้มากขึ้น และอยากกินของหวานในปริมาณที่เยอะขึ้น จนเส้นความพึงพอใจที่จะหายอยากกินของหวานสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่หากเราพยายามจะลดปริมาณการกินหวานลง ก็จะส่งผลให้การปล่อยสารโดปามีนลดลงตาม เมื่อสารแห่งความสุขอย่างโดปามีนมีน้อยลง มันก็นำพาอารมณ์หดหู่ ความวิตกกังวล ความรู้สึกเครียดและหงุดหงิด มาจู่โจมเจ้าของร่างกายทันที 

ซึ่งความหนัก-เบาของผลกระทบจากการลดลงของโดปามีนนั้น ก็มาก-น้อยตามปริมาณของหวานที่เราลด พูดง่าย ๆ ว่ายิ่งลดแบบหักดิบมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราหงุดหงิดมากขึ้นเท่านั้น!


วีนฉ่ำก็เครียดจะแย่ แต่ผลกระทบทางกายก็แย่ไม่แพ้กัน

⠀⠀⠀นอกจากอารมณ์ที่ขุ่นมัวและความรู้สึกอยากหยุมหัวคนไปทั่วแล้ว การลดน้ำตาลอย่างฉับพลันยังอาจส่งผลกระทบอื่น ๆ ต่อร่างกาย อาทิ อาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไปจนถึงเหนื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง ในบางคนอาจไปถึงขั้นนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท ขาดสมาธิ หรือไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เหมือนอย่างเคย รวมถึงยังไปกระตุ้นความอยากในอาหารประเภทอื่น ๆ เช่น จำพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต เป็นต้น


เบา(ความ)หวาน อย่างสันติ
  • ค่อย ๆ ลด อย่างดทีเดียว 

⠀⠀⠀แม้การลดหวานด้วยวิธีหักดิบ จะเป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุด แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาก็ค่อนข้างรบกวนชีวิตประจำวันไม่น้อย ฉะนั้นการค่อย ๆ ลดปริมาณลง เช่น จากดื่มชาเย็น 2 แก้วต่อวัน ก็ลดเหลือวันละแก้ว จะช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น แต่ต้องเตือนตัวเองเสมอนะว่าห้ามตบะแตกเป็นอันขาด

  • เลือกหวานจากธรรมชาติ 

⠀⠀⠀การกินผักหรือผลไม้สดที่มีรสหวาน จะช่วยทดแทนความหวานที่ร่างกายเราโหยได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลดความอยากของหวานอื่น ๆ แล้ว ยังช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น อิ่มท้องได้นานขึ้น และอยากอาหารน้อยลงตามมา

  • ดื่มน้ำให้มาก ลดอยากได้เยอะ

⠀⠀⠀การดื่นมน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพโดยรวม และช่วยให้จัดการกับความอยากกินหวานได้ แต่หากรู้สึกเหนื่อยล้า กระหายน้ำมาก ๆ ก็สามารถเลือกดื่มน้ำโซดา หรือน้ำมีแก๊สที่ไม่มีน้ำตาล เพื่อให้ร่างกายได้รับความซ่าตามที่ต้องการ

  • กินหวาน หลังอาหารเท่านั้น

⠀⠀⠀ถ้ารู้สึกว่า “ไม่! ฉันขาดของหวานไม่ได้” ให้ลองปรับเวลา มากินหลังอาหารหลักเท่านั้น เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปพร้อมกัน และสามารถควบคุมปริมาณได้ดีขึ้น 

  • นอนพอ ไม่ต้องง้อหวาน

⠀⠀⠀มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ให้ข้อมูลว่า การพักผ่อนน้อยทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า และอยากของหวานเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการนอนให้เป็นเวลาหรือพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้การลดความอยากของหวานเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น


“เครียดเรื้อรัง” นางตัวต้นเรื่อง

⠀⠀⠀นอกจากการลดหวานในกิจวัตรประจำวันแล้ว การย้อนกลับมาสำเร็จตัวเองถึงสาเหตุที่ทำให้เราอยากกินหวานนั้นก็สำคัญเช่นกัน บางคนที่เผชิญความเครียดมาเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่า “เครียดเรื้อรัง” ส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลายทาง ไม่ว่าจะเป็น ...

ฮอร์โมน — เมื่อร่างกายเผชิญความเครียดเรื้อรัง ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) จะหลั่งออกมา ซึ่งเพิ่มความอยากอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง

ระบบประสาท — ความเครียดกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้รู้สึกหิว แม้จะอิ่มแล้ว

พฤติกรรม — การกินเป็นวิธีคลายเครียดสำหรับบางคน การกินอาหารอร่อย ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นชั่วคราว แต่ผลลัพธ์ระยะยาวคือ น้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักตัวเพิ่ม


⠀⠀⠀อย่างไรก็ตาม การจะไปบอกให้ใครสักคนเลิกเครียด หรือเครียดให้น้อยลง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย เพราะการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันก็ล้วนรายล้อมด้วยปัจจัยที่ส่งผลให้เครียดด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้น ถ้าความหวานที่เข้าปากไป ทำให้คุณรู้สึกสดชื่นและพร้อมจะรับมือกับปัญหาตรงหน้า การเติมหวานเพียงเล็กน้อยระหว่างวันก็ถือเป็นเรื่องดีเหมือนกัน (แต่ระวังอย่าให้มากเกินไปล่ะ!) 


และสำหรับเกษตร ร้านค้ารายย่อย SME หรือวิสาหกิจชุมชน ที่มีวัตถุดิบ อยากแปรรูปอาหารด้วยนวัตกรรม ให้ลดหวาน เพิ่มหวาน หรือคงความหวานไว้โดยไม่เสียคุณค่าทางอาหาร ก็สามารถติดต่อขอรับบริการจากทีมโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (FOODFABR) ได้ในทุกช่องทางติดต่อของ STeP หรือเดินทางมาหาเราโดยตรงได้ที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) 


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #กินหวาน #ลดหวาน #ความเครียด


แหล่งอ้างอิง

https://www.beartai.com/life/health/1254074

https://www.thrivewellnessth.com/post/cortisol

https://thestandard.co/stress-causes-people-to-overeat/

https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/why-stress-causes-people-to-overeat