“เรื่องเล่าของชุมชน” สิ่งที่คนนอกสนใจ แต่คนในอาจมองข้าม

“เรื่องเล่าของชุมชน” 
สิ่งที่คนนอกสนใจ แต่คนในอาจมองข้าม
________


“ทุกชุมชนมีเรื่องเล่า” 


ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ตั้งอยู่ในตัวเมืองหรือห่างออกไปในชนบท ทุกชุมชนในทุกท้องถิ่น ย่อมมีตัวตน เอกลักษณ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งเหล่านี้คือ “คุณค่าของชุมชน” ที่สามารถถ่ายทอดบอกต่อสู่คนภายนอก 

⠀⠀⠀ก่อนหน้านี้ เรามักเข้าใจว่า “วัฒนธรรมท้องถิ่น” (Local Culture) เป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม เป็นเรื่องที่คนในชุมชนท้องถิ่นนั้นรู้กันเอง และจะได้รับความสนใจจากคนภายนอกก็ต่อเมื่อมีการผลักดันโดยภาครัฐเท่านั้น 

แต่เป็นที่น่าสนใจว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมของวัฒนธรรมท้องถิ่นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์จากชุมชน รวมไปถึงจำนวนคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาบอกเล่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนในแง่มุมต่าง ๆ ก็เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลที่เปิดเผยในงานสัมมนา iCreator Conference 2023 พบว่าครีเอเตอร์ชั้นนำของประเทศไทย จำนวน 15,000 คน เป็นครีเอเตอร์ในหมวดหมู่ Local Culture ถึง 11% ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจาก Gaming & eSport, Beauty & Fashion และ vTuber ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเทรนด์แนวหน้ามาโดยตลอด นั่นจึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า...


อะไรทำให้คนหันมาสนใจ “ความเป็นท้องถิ่น” มากขึ้น 

⠀⠀⠀ความนิยมในวัฒนธรรมท้องถิ่นและเรื่องเล่าของชุมชนที่เพิ่มขึ้น มีด้วยกันหลายปัจจัย ได้แก่ 

การแสวงหาตัวตนของคนยุคใหม่

⠀⠀⠀ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การไล่ตามวัฒนธรรมกระแสหลักที่ถูกกำหนดโดยเหล่าประเทศมหาอำนาจ กลายเป็นสิ่งที่เหนื่อยล้าเกินไปสำหรับคนรุ่นใหม่ ทำให้คนเหล่านี้เริ่มกลับมามองหา “คุณค่า” ในวัฒนธรรมรากเหง้าของตัวเองมากขึ้น และพร้อมจะถ่ายทอดออกมาด้วยความภาคภูมิใจ 

โควิด-19 กรุยทาง

⠀⠀⠀ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้การซื้อ-ขายสินค้าจากต่างประเทศชะงัก จึงเกิดการซื้อ-ขายสินค้า งานฝีมือ และผลิตภัณฑ์จากในประเทศมากขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าจากชุมชนท้องถิ่น ที่ให้ทั้งคุณภาพ ความเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติด้วยกรรมวิธีดั่งเดิม สะท้อนแนวคิดความยั่งยืน จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้แทบทุกด้าน 

เบื่อหน่ายความ “แมส”

⠀⠀⠀อะไรที่ “แมส (Mass)” หรือเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สินค้า หรือบริการ จะได้รับความสนใจน้อยลง เพราะผู้คนในยุคนี้ โหยหาความแตกต่างหลากหลาย ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในวิถีชีวิตและผลผลิตจากชุมชนท้องถิ่น 

โอกาสที่มากับโลกดิจิทัล

⠀⠀⠀แพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เป็นตัวแปรสำคัญในการเชื่อมโยงผู้คนที่เกี่ยวข้องหรือมีความสนใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ด้วยกัน ให้ผู้ถ่ายทอดมีพื้นที่ในการบอกเล่าได้กว้างไกลขึ้น ให้ผู้เสพมีช่องทางในการติดตาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการโปรโมตสินค้าและการท่องเที่ยวได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว 


แล้ว “ชุมชน” จะใช้โอกาสจากความนิยมนี้ได้อย่างไรบ้าง ?

⠀⠀⠀แน่นอนว่าความนิยมดังกล่าวนี้ เป็นกระบอกเสียงชั้นดีในการดึงดูดประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เปิดใจ มาเที่ยวชมสถานที่ วิถีชีวิต หรือจับจ่ายซื้อของจากชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักผูกโยงกับการหารายได้และความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ หากมีคนให้ความสนใจชุมชนของท่านเยอะ รายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมก็จะเข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้นตามไป 

อย่างไรก็ตาม การจะใช้โอกาสนี้ในการดึงดูดผู้คนนั้น ชุมชนเองก็ต้องมีวิธีการนำเสนอเรื่องราวและคุณค่าของชุมชนได้อย่างน่าสนใจด้วย และหนึ่งในวิธีที่ได้ผลมากที่สุด คือ “การสร้างนักเล่าเรื่องชุมชน” จากคนในนั่นเอง


เราจะเตรียม “นักเล่าเรื่องชุมชน” ได้อย่างไร 
  • ใช้คนใน เล่าจากใจ 

⠀⠀⠀นักเล่าเรื่องชุมชน คือ บุคคลที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนของตน อาจเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือเกล็ดเล็ก เกล็ดน้อยที่น่าสนใจ ซึ่งเสน่ห์ที่สำคัญยิ่ง คือเป็นการถ่ายทอดในรูปแบบ “เล่าจากใจ” ไม่ใช่การท่องจำ นักเล่าเรื่องจึงควรเป็นคนในชุมชนเอง ที่สามารถถ่ายทอดในสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังจากผู้เฒ่าผู้แก่มา เล่าจากความทรงจำที่ตัวเองได้ประสบพบเจอมา หรือสะท้อนผ่านการพาไปเยี่ยมวิถีชีวิต ต้องเป็นคนที่มีชีวิตชีวา และภาคภูมิใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น 

  • ไม่หวังเพียงทิป แต่เน้นความยั่งยืน 

⠀⠀⠀นักเล่าเรื่องชุมชน จะแตกต่างจากไกด์ที่รับค่าจ้างในการนำเที่ยว เพราะเน้นไปที่การถ่ายทอดคุณค่าของชุมชน ด้วยการบอกเล่า พูดคุย อย่างมีชีวิตชีวา และไม่จำเป็นต้องมีรายได้โดยตรงจากการนำเที่ยว ในทางตรงข้าม นักเล่าเรื่องที่เก่ง จะช่วยให้ทั้งชุมชน มีรายได้ทางอ้อมจากการสื่อสารออกไป อาทิ การเล่าตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของวัดในชุมชน ทำให้ผู้คนอยากมากราบไหว้ขอพร หรือการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของชุมชน ด้วยการเล่ากรรมวิธีการทำที่ประณีตสูง เป็นต้น

  • ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ 

⠀⠀⠀แต่เดิมคนจะได้ฟังเรื่องเล่าของชุมชน ก็ต่อเมื่อไปเยือนถึงที่แล้วเท่านั้น แต่ในยุคที่โซเชียลมีเดียอยู่ในมือของทุกคน นักเล่าเรื่องชุมชนสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการสร้างพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวไปสู่ผู้คนทั่วโลกได้ง่าย ๆ โดย “การสร้างคอนเทนต์” อาจเริ่มจากการถ่ายวิดีโอวิถีชีวิตประจำของวันตัวเองและคนในชุมชน ถ่ายทำตอนกำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เข้าสวน ทำไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิต ทำงานฝีมือ หรือแม้กระทั่งการล้อมวงกินข้าวร่วมกัน 



⠀⠀⠀ถึงตรงนี้ อยากให้ทุกท่านที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ใช้โอกาสความนิยมของกระแส Local Culture ออกมาบอกเล่า ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนตัวเอง เพื่อให้เราอีกหลาย ๆ คนได้รับรู้ว่าชุมชนของท่านมีดีอย่างไร แม้การเริ่มต้นเป็นนักเล่าเรื่อง สำหรับบางคนอาจต้องอาศัยความกล้าและการเตรียมตัวสูง แต่อย่าได้กังวลไป เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและลองผิดลองถูกเช่นกัน แต่เชื่อเถอะว่าผลลัพธ์นั้นคุ้มค่าอย่างแน่นอน 

⠀⠀⠀สำหรับชุมชน ที่มีความต้องการจะพัฒนาวิถีชีวิตหรือผลิตผลภายในชุมชนของท่าน STeP เรามี “กลุ่มคน” ที่จะรับหน้าที่สนับสนุนชุมชมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะ เพื่อให้ทุกชุมชนได้รับการยกระดับอย่างตรงจุด และไปสู่ความยั่งยืนได้จริง 

ทำความรู้จักพวกเขาได้ที่ บทความ : Local / PubSec / EIC กลุ่มคนที่เดินเคียงข้าง “ชุมชน” บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน 


_______


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #LocalCulture #ชุมชน #เรื่องเล่าชุมชน