ทำไมกุมภาฯ ปีนี้ ถึงมี 29 วัน ? ทำความรู้จัก

ทำไมกุมภาฯ ปีนี้ ถึงมี 29 วัน ? 
ทำความรู้จัก "วันอธิกวาร" 
___________


“กุมภาพันธ์” ถือเป็นหนึ่งเดือนที่มีความพิเศษและน่าจดจำไม่น้อย ด้วยว่าเป็นเดือนที่ถือครองเทศกาลที่คนทั่วโลกต่างรอคอย อย่างวันวาเลนไทน์ อีกทั้งยังเป็นเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุด หนำซ้ำบางปียังมีเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งวันเสียอย่างนั้น 

แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมกุมภาฯ บางปี อย่างปี 2024 นี้ ถึงมี 29 วัน? แล้ววันที่เพิ่มเข้ามานี้สำคัญอย่างไร? ส่งผลอะไรกับการใช้ชีวิตหรือไม่? มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน 



ทำไมกุมภาฯ บางปี ถึงมี 29 วัน ?

⠀⠀⠀ระบบปฏิทินที่เราใช้กันอย่างเป็นสากลในทุกวันนี้นั้น เรียกว่า “ระบบสุริยคติ” ซึ่งอ้างอิงจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก 

⠀⠀⠀อย่างที่เราพอจะทราบกัน การหมุนรอบตัวเองของโลก (ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง) ทำให้เกิดกลางวัน-กลางคืน ขณะเดียวกัน ก็โลกก็ยังโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย ส่งผลให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ตามตำแหน่งที่ใกล้-ไกลจากดวงอาทิตย์ โดยการโคจรครบ 1 รอบ จะนับเป็น 1 ปี หรือ 365 วัน

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โลกของเราไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วันตรงเป๊ะอย่างที่มักเข้าใจ แต่ใช้เวลาโคจรประมาณ 365.25 วัน (หรือเท่ากัน 365 วัน 5 ชั่วโมง 48 นาที 56 วินาที) หากปัดเศษให้เข้าใจง่าย ๆ จะนับเป็น 365 วัน กับอีก 6 ชั่วโมง ซึ่งเจ้า 6 ชั่วโมงที่เกินมานี้ก็ไม่ได้ทิ้งหายตายจากไปแต่อย่างใด แต่จะถูกนำมาสะสมเก็บไว้ เมื่อครบ 4 ปี จะได้ 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน 

นั่นจึงเป็นที่มาของการเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์เข้ามาในทุก ๆ 4 ปี เพื่อให้การนับวันสอดคล้องกับตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์ โดยวันที่เพิ่มเข้ามานี้จะเรียกว่า “วันอธิกวาร” (Leap Day) และเรียกปีที่มี 366 วันว่า “ปีอธิกสุรทิน” (Leap Year) นั่นเอง


อย่างนั้นเราทำให้ง่ายขึ้น โดยปัดเป็น 365 วันทุกปีไม่ได้หรือ ?

⠀⠀⠀การเพิ่ม-ลดวันบนปฏิทินนั้น มีมานานนับตั้งแต่โบราณ เพื่อให้สอดคล้องกับฤดูกาล ซึ่งสำคัญต่อวิถีชีวิตและการเตรียมเพาะปลูกของคนในยุคสมัยนั้น โดยส่งผลมาถึงแม้แต่ปัจจุบัน ในยุคที่เราสามารถคำนวณรอบการโคจรของโลกกับดวงอาทิตย์ได้อย่างละเอียดแล้วก็ตาม 

เพราะหากเราไม่คำนวณช่วงที่เพิ่มมานั้น จะทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ เริ่มเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ไม่ตรงกับเดือนที่ควรจะเป็น เผลอ ๆ เราอาจได้สาดน้ำเทศกาลสงกรานต์ในเดือนธันวาคมที่อากาศเย็นจัดก็เป็นได้ 

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเข้ามา 1 วันก็เป็นยังเวลาที่เหลื่อมกับความเป็นจริงเล็กน้อยอยู่ดี นั่นทำให้ไม่ใช่ทุก ๆ 4 ปี ที่จะเป็นปีอธิกสุรทิน (โอ๊ย ปวดหัว) โดยมีวิธีการคำนวณคือปี ค.ศ. ที่หารด้วย 100 ลงตัว แต่หารด้วย 400 ไม่ลงตัว จะไม่ถูกนับเป็นปีอธิกสุรทิน


ขนาดเพิ่มวันให้แล้ว แต่ทำไมเดือนกุมภาฯ ถึงยังมีวันน้อยกว่าเดือนอื่น ?

⠀⠀⠀ความน่าสนใจของจำนวนวันในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เกิดจากความเอาแต่ใจของจักรพรรดิองค์แรกของโรม อย่างออกัสตัส ซีซาร์ 

ซึ่งแต่เดิมปฏิทินในยุคก่อน กำหนดให้แต่ละเดือนมี 30 และ 31 วัน ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์จะมี 29 วันยืนพื้น โดยปีอธิกสุรทินจะถูกเพิ่มเป็น 30 วัน ให้เท่า ๆ กับเดือนอื่น ก่อนต่อมาออกัสตัส ซีซาร์จะเปลี่ยนชื่อเดือนเกิดเป็น August ตามนามของตน และเพิ่มจาก 30 วัน เป็น 31 วัน โดยดึงมาจากเดือนกุมภาพันธ์ นับแต่นั้นเดือนสิงหาคมจึงมี 31 วัน ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 หรือ 29 วัน


แล้วคนที่เกิดวันที่ 29 กุมภาฯ ล่ะ เขานับอายุกันอย่างไร ?

⠀⠀⠀การนับอายุนั้นขึ้นอยู่กับการออกกฎหมายของแต่ละประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง หรือสหรัฐอเมริกา จะนับวันที่ 1 มีนาคมแทนในปีที่ไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ขณะที่ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ รวมถึงประเทศไทย จะเลือกนับเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์แทน ซึ่งข้อกำหนดเดียวกันนี้ยังถูกใช้ในทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย 

ถึงอย่างนั้น ในทางปฏิบัติ คนที่เกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ส่วนใหญ่ ก็มักฉลองวันเกิดตัวเองในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ (คาดว่าเพราะอยู่ในเดือนเดียวกัน) และนับอายุไล่ไปทุก ๆ 1 ปีเท่ากับคนอื่น



⠀⠀⠀ปีนี้จึงเป็นปีที่น่ายินดี สำหรับทุกคนที่เกิดในวันแสนพิเศษที่ 4 ปีจะมีครั้งอย่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่จะได้ฉลองเป่าเค้กในวันที่ตรงกับวันเกิดของตัวเองจริง ๆ แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ที่อยากให้ทุกสิ้นเดือนผ่านพ้นไปให้ไวที่สุด การเพิ่มมา 1 วันนี่ถือว่าหืดขึ้นคอพอสมควรเลยนะ (ฮ่า) 


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #29กุมภาพันธ์ #29Feb #Leapday #ปีอธิกสุรทิน


ขอบคุณแหล่งอ้างอิง

https://thestandard.co/onthisday2902/

https://www.thaipbs.or.th/now/content/746

https://www.sanook.com/campus/1421371/

https://www.thaipbs.or.th/news/content/336531