"โคมลอย" ลอยได้อย่างไร? ฟิสิกส์เล็ก ๆ ในประเพณียี่เป็งล้านนา

โคมลอย ลอยได้อย่างไร ?
ฟิสิกส์เล็ก ๆ ในประเพณียี่เป็งล้านนา

__________



⠀⠀⠀เมื่อล่วงเลยเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ในวันเพ็ญหรือคืนพระจันทร์เต็มดวง ก็ถึงค่ำคืนของเทศกาลที่หลายคนรอคอยอย่างลอยกระทง ซึ่งสำหรับชาวเหนือเราจะตรงกับช่วงเวลาของประเพณียี่เป็งพอดิบพอดี 


"ยี่เป็ง" หรือประเพณีเดือนยี่  เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนา โดยคำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วน “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ ยี่เป็งจึงหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติไทย 


แม้ยี่เป็งจะจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับลอยกระทงของไทย แต่มีความต่างกันอยู่เล็กน้อยในรายละเอียด อย่างที่เราทราบกันดีว่าเทศกาลลอยกระทงมีจุดมุ่งหมายเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคาและขจัดสิ่งไม่ดีให้ไหลไปกับสายน้ำ ขณะที่ประเพณียี่เป็งจะถือเป็นเทศกาลงานบุญแบบหนึ่ง จึงเน้นไปที่การฟังเทศน์ ฟังธรรรม การระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับ และการขับไล่ความโชคร้ายและนำโชคมาให้ ซึ่งกิจกรรมที่ทำก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัด


แต่เชื่อว่าไฮไลท์ที่หลายคนนึกถึงเป็นสิ่งแรกเมื่อพูดถึงประเพณียี่เป็ง คงเป็นสิ่งใดไปไม่ได้เลยนอกจาก “การลอยโคม”  เราจึงอดไม่ได้ที่จะขอแทรกความเป็นวิทยาศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปพร้อมกับการพาทุกคนมารู้จักประเพณียี่เป็งให้มากขึ้นอีกสักนิด 




โคมลอย – ลอยโคม ประเพณีที่มาพร้อมกฎฟิสิกส์


⠀⠀⠀แม้ในงานเทศกาลยี่เป็งจะมีโคมด้วยกันหลายประเภท ไม่ว่าจะโคมติ้ว โคมแขวน หรือโคมพัด แต่โคมที่เรากำลังพูดถึงนี้ คือโคมที่ใช้สำหรับการปล่อยเลยนั่นเอง 


เรียกว่าเป็นภาพจำเลยก็ว่าได้ สำหรับการลอยโคมสีขาว ตัวโครงทำจากซีกไม้ไผ่หุ้มด้วยกระดาษสา มีเชื้อไฟผูกติด และเมื่อเราทำการจุดไฟ รอเพียงไม่กี่อึดใจ เจ้าโคมสีขาวก็จะเริ่มพองตัวและลอยขึ้นสู่ฟากฟ้าไปรวมกลุ่มกับโคมอื่น ๆ เป็นที่น่าสนใจว่าเบื้องหลังภาพความตระการตาของโคมลอย เกิดขึ้นจากองค์กระกอบง่าย ๆ เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น ซึ่งรวมถึง “กฎฟิสิกส์” ด้วย 


การลอยขึ้นของโคมนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยแรงลอยตัว (Buoyancy force) อันเป็นกฎฟิสิกส์พื้นฐานสำหรับกลศาสตร์ของไหล ซึ่งสามารถอธิบายง่าย ๆ ได้ว่า โคมลอยลอยตัวอยู่ในอากาศได้ ก็เพราะมวลอากาศภายในโคมลอยนั้น มีความหนาแน่นน้อยกว่ามวลอากาศรอบ ๆ โดยเกิดจากความร้อนจากเชื้อไฟที่เราจุด ส่งผลให้พลังงานจลของโมเลกุลที่อยู่ในโคมมีมากขึ้น ทำให้โมเลกุลเคลื่อนที่เร็วขึ้นและออกห่างกันมากขึ้น อากาศที่ร้อนกว่าภายในโคมจึงมีความหนาแน่นน้อยกว่าภายนอก โคมจึงลอยขึ้นสูงเรื่อย ๆ และเมื่อถึงจุดที่เชื้อไฟดับ ความร้อนภายในโคมก็จะค่อย ๆ ลดลง ความหนาแน่นในโคมก็จะมากขึ้น ก็เป็นผลให้โคมค่อย ๆ ร่วงลงมาจนถึงพื้นในที่สุด 




แต่รู้หรือไม่ ยี่เป็งในอดีต ไม่ได้ใช้ไฟในการลอยโคม ?


⠀⠀⠀ตามวิถีเดิมของชาวล้านนานั้น โคมที่ใช้ปล่อยในช่วงยี่เป็งไม่ใช่โคมจุดไฟแบบที่เรานิยมกันอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็น “ว่าวฮม” หรือ “โคมควัน” ที่อาศัยควันไฟส่งให้โคมนั้นลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า และที่สำคัญเป็นการลอยโคมในเวลากลางวันก่อนเที่ยง ไม่ใช่ยามค่ำคืนเหมือนทุกวันนี้


โดยลักษณะของโคมควันนี้ ทำจากกระดาษเอามาปะต่อกันให้มีขนาดใหญ่ จากนั้นก็นำท่อนไม้จุดไฟไปจ่อไว้ที่ปากโคม ให้ควันลอยเข้าไปอัดแน่นอยู่ภายในโคมจนลอยขึ้น ซึ่งก็ใช้หลักการลอยตัวแบบเดียวกับโคมจุดไฟ เพียงแต่เปลี่ยนจากการใช้ความร้อนเป็นการใช้ควัน ซึ่งมีคุณสมบัติเบากว่าอากาศภายนอกอยู่แล้ว ส่งผลให้โคมลอยตัวขึ้นได้ไม่ต่างกัน ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื่องไฟไหม้อีกด้วย




โคมลอย ยัง ‘ควร’ ลอยอยู่ไหม ? 


⠀⠀⠀ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวอุบัติเหตุความเสียหายที่มีโคมลอยเป็นสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเหตุไฟไหม้บ้านเรือน หรือการบดบังทัศนวิสัยการบิน จนเกิดเป็นคำถามสำคัญตามมาว่า เรายังควรลอยโคมอยู่ไหม?


หากว่ากันตามตรง การลอยโคมด้วยเชื้อไฟที่ใช้กันในปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่ควรลดหรืองดการปล่อยให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยเข้าใจว่าการปล่อยโคมนั้น เป็นกิจกรรมที่ผูกกับความเป็นประเพณีที่ทำกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน การจะงดโดยสิ้นเชิงเลยนั้นอาจเป็นไปได้ยาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้ปล่อยโคมจะต้องตระหนักเสมอ ถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น 


ซึ่งอาจสามารถทำได้โดยการเลือกลอยโคมในพื้นที่โล่ง ห่างไกลห่างไกลจากชุมชน ที่อยู่อาศัย งดปล่อยในเขตตัวเมืองและสนามบินโดยเด็ดขาด โคมลอยที่ใช้ควรมีเชื้อไฟน้อย ให้มีระยะเวลาเผาไม่มาก เพื่อให้โคมไม่ลอยไปไกลเกินที่เราจะควบคุมระยะการตกได้ เป็นต้น หรือหากใครอยากตัดปัญหาไปเลย ก็สามารถเลือกปล่อยโคมในรูปแบบออนไลน์ได้เช่นกัน




ยี่เป็งเชียงใหม่ปีนี้ ลอยโคมได้ไหม ?


⠀⠀⠀สำหรับงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ 2566 จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 - 28 พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นอีกครั้งที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทุ่มทุนสร้างจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ในการยกระดับเทศกาลท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อนำร่องล้านนาซอฟต์พาวเวอร์ 


และเพื่อให้ประเพณีอันงดงามสามารถเดินไปพร้อมกับความปลอดภัยได้อย่างลงตัว ทางจังหวัดเชียงใหม่จึงได้ออกมาตรการความปลอดภัยในการปล่อยโคม โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว “ปล่อยโคมได้” 2 วันเท่านั้น คือในวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน 66 ตามเวลาที่กำหนด และต้องอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น โดยมี 6 อำเภอ 39 ตำบลห้ามปล่อยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ (สามารถตรวจสอบเขตห้ามปล่อยโคมได้ที่ https://maps.app.goo.gl/33HbSqyMthdbtc8c8?g_st=ic)


ทั้งนี้โคมที่ปล่อย ต้องเป็นโคมที่มีขนาดถูกต้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ใช้กระดาษว่าวชนิดบาง มีปริมาณเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม เพื่อควบคุมให้มีเวลาเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศและตกลงมาในรัศมีพื้นที่ที่กำหนดไว้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของเราทุกคน 




⠀⠀⠀ลอยกระทงปีนี้ หากใครยังไม่มีแผนจะไปเที่ยวไหน ลองมาร่วมงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ดูสักหน่อยก็ไม่เลวนะ 



#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #โคมลอย #ยี่เป็ง #ลอยกระทง #ฟิสิกส์ 

__________


แหล่งอ้างอิง

https://sciplanet.org/content/11391

https://www.nationtv.tv/news/378750577

https://www.thairath.co.th/news/local/localbusiness/2739037