“ธี่หยด” แว่วเสียงหลอนปริศนา ดังมาจากไกล ๆ มองหาไม่เจอใคร แต่ทำไมยังได้ยิน ?

“ธี่หยด” แว่วเสียงหลอนปริศนา
ดังมาจากไกล ๆ มองหาไม่เจอใคร แต่ทำไมยังได้ยิน ? 
____________




⠀⠀⠀เวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ธี่หยด” หนังสยองขวัญจากเรื่องเล่าประสบการณ์จริง ที่กวาดรายได้อย่างถล่มทลาย จับมือเคียงคู่มากับ ‘สัปเหร่อ’ ปลุกกระแสหนังไทยให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง 


นอกจากเรื่องราวสุดหลอน ความเก่งกาจของนักแสดง และโปรดักชันระดับโลกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือเสียงครวญ “ธี่หยด...” ที่ถอดแบบออกมาได้หลอนหูสมคำร่ำลือจากเรื่องเล่า และที่สร้างความน่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก คือการที่เรามองไม่เห็นต้นกำเนิดเสียง ไม่อาจรู้ได้เลยว่ามันดังลอยมาจากทิศทางไหน หรือจะนำพาสิ่งใดตามติดมาด้วยหรือไม่ 


⠀⠀⠀ในแง่มุมของความเป็นหนัง คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะรังสรรค์ความน่ากลัวเหล่านั้นออกมาเพื่อสร้างอรรถรสให้กับผู้ชม แต่หากมองในมุมของเรื่องเล่าจากเหตุการณ์จริง จะเป็นไปได้หรือไม่? ที่คนเราจะสามารถได้ยินเสียงบางเสียงอย่างชัดเจน แม้ต้นกำเนิดเสียงจะอยู่ไกลจนเราไม่สามารถมองเห็นได้เลยก็ตาม 




ความลับเบื้องหลังเสียงหลอนปริศนาที่มองหาต้นตอไม่พบ 


⠀⠀⠀เพื่อไม่ให้คาใจกันนาน ก่อนอื่นก็ขอตอบคำถามที่ได้เกริ่นไปในข้างต้นว่า “มีความเป็นไปได้” และเชื่อหรือไม่ว่า องค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้เราได้ยินเสียงหลอนได้จากที่ไกล ๆ ก็คือ “ช่วงเวลากลางคืน” 


ถึงตรงนี้ บางคนอาจบอกว่า “แน่ล่ะ เพราะกลางคืนมันเงียบไง” ซึ่งนั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่สาเหตุที่แท้จริงเป็นอะไรที่เราต้องลงลึกกว่านี้อีกสักนิด อย่าง ทฤษฎีการเดินทางของเสียง 


⠀⠀⠀ด้วยว่าธรรมชาติของ “เสียง” มีคุณสมบัติเหมือนกับคลื่นทั่วไป ที่ไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงเสมอไป มีการหักเห การสะท้อน การเบน เลี้ยว หรือแทรกตัว โดยปกติแล้วเสียงจะต้องเดินทางผ่านตัวกลางเสมอ ในรูปแบบการส่งออกจากต้นกำเนิดเสียง ผ่านตัวกลาง ไปยังอวัยวะรับเสียง นั่นก็คือหูของเรา ยกตัวอย่าง เสียงครวญ ‘ธี่หยด’ ที่ออกมาจากปากยายช่วย ผ่านอากาศที่เป็นตัวกลาง ส่งไปถึงหูให้หยาดและแย้มได้ยิน 


แต่ก็ใช่ว่าเสียง ‘ธี่หยด’ จากยายช่วยจะส่งผ่านอากาศไปยังหยาดและแย้มได้ตรง ๆ เสียงยังต้องฝ่าฟันผ่านปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจขวางอยู่ตามสภาพแวดล้อม อาทิ ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้าง น้ำฝน หรือแม้แต่อุณหภูมิของอากาศเองก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เสียงเกิดการสะท้อน หักเห หรือถูกดูดกลืน และทำให้ความดังของเสียงที่จะส่งไปยังผู้รับเบาลง ไปจนถึงไม่ได้ยินเลยก็เป็นได้


จุดสำคัญอยู่ตรงนี้เอง เมื่อช่วงเวลาที่ยายช่วยเลือกจะส่งเสียงคือ ‘กลางคืน’ ซึ่งอุณหภูมิที่สูงในตอนกลางวันจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น ส่งผลให้อากาศเหนือพื้นดินในตอนกลางคืนมีอุณหภูมิลดลง คลื่นเสียงจึงสามารถเดินทางและหักเหลงสู่พื้นดิน ส่งตรงไปยังผู้รับเสียงได้ดังขึ้น จึงมีความเป็นไปได้สูงตามหลักความเป็นจริงเลยว่า เสียงหลอน ‘ธี่หยด’ ของยายช่วย สามารถลอยออกไปถึงหยาดและแย้มจนได้ยินอย่างชัดเจนได้ แม้จะส่งจากที่ห่างไกลก็ตาม





ความหลอนหูที่มักมากับ ‘เสียงผู้หญิง’


⠀⠀⠀อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเสริมแรงให้เสียง ‘ธี่หยด’ ได้ยินชัดเจนมากขึ้น คือ “เสียงที่แหลม” โดยเสียงแหลมที่ว่านี้ คือเสียงที่มีความถี่สูง ซึ่งสามารถเดินทางผ่านอากาศได้ดีกว่า รวมถึงหูของคนเรายังไวต่อเสียงแหลมมากกว่า ทั้งนี้เสียงของเพศหญิงจะมีความถี่ที่ประมาณ 200 - 400 Hz สูงกว่าของเพศชายที่อยู่ประมาณ 80 - 200 Hz จึงไม่แปลกที่สูตรสำเร็จของเรื่องเล่าสยองขวัญมักใช้เสียงแหลมเล็กของเพศหญิงในการสร้างความหลอนหู เพราะดึงดูดความสนใจได้ทันทีที่โผล่มา 





จากเสียงครวญคลั่งปริศนาสู่คำว่า ‘ธี่หยด’


⠀⠀⠀‘ธี่หยด’ เป็นการถอดคำจากเสียงที่ได้ยิน ออกเสียงว่า ‘ที่-หยด’ ซึ่งไม่ได้มีความหมายในตัวเอง และไม่มีใครสามารถตอบได้ว่ามันเพี้ยนมาจากคำว่าอะไร แม้จะมีหลายทฤษฎีที่คาดเดาว่าอาจมาจากคำว่า ‘เตี๊ยะ หยด’ บ้าง ‘แตะ โหยด’ บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันที่แน่นอนทั้งสิ้น


ถึงอย่างนั้น การเพี้ยนเสียงมาสู่คำว่า ‘ธี่หยด’ ก็คล้ายกับปรากฏการณ์ แพริโดเลีย (Pareidolia) ซึ่งเป็นกลไกของสมองที่เมื่อใดเราพบเจอกับสิ่งที่ไม่ชัดเจน หรือสิ่งที่คับคล้ายคับคลากับสิ่งอื่นที่เราเคยจดจำได้ สมองก็จะดึงข้อมูลเดิมในหัวของเรามาผสานกับสิ่งที่เห็นหรือได้ยินตรงหน้า และตีความออกมา 


พูดง่าย ๆ ว่า ผู้อยู่ในเหตุการณ์เรื่องเล่าอาจได้ยินเสียงปริศนานั้นไม่ชัดเจนนัก อาจเป็นได้ทั้ง ‘เตี๊ยะ หยด’ หรือ ‘แตะ โหยด’ แต่คำเหล่านั้นไม่ใช่คำในภาษาไทยและไม่ใช่คำที่เราออกเสียงกันบ่อย ๆ สมองจึงตีความโดยเลือกเอาคำที่ออกเสียงง่ายต่อการจดจำเข้ามาแทนที่ กลายเป็นคำว่า ‘ธี่หยด’ นั่นเอง


กรณีนี้ ไม่ต่างกับการเพี้ยนเสียงหลาย ๆ คำที่เป็นไวรัลในปัจจุบัน เช่น มูกุงฮวา เป็นโกโกวา, ที่เธอเคยบอก เป็นพี่กะเทยบอกฉัน, Little Lion เป็นลิตรเท่าไหร่อะ หรือล่าสุด Makeba ที่กลายเป็นนักเก็ตปลา นั่นล่ะ 




⠀⠀⠀อย่างไรก็ตาม บทความนี้เป็นเพียงการจับเอาประเด็นจากการได้อ่าน ได้ฟัง และได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง ‘ธี่หยด’ มาแบ่งปันในมุมวิทยาศาสตร์ให้ทุกท่านได้อ่านกันเพลิน ๆ เท่านั้น ไม่ว่าข้อเท็จจริงและสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ก็อาจไม่สำคัญ เท่ากับอรรถรสที่เราได้จากเรื่องราวนี้อย่างแน่นอน 


_____________


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #ธี่หยด #ผี #ทฤษฎีเสียง


ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก

https://www.sounddd.shop/day-night-sound-refraction/

https://www.komchadluek.net/hot-social/Social/561949

http://www.digitalschool.club/digitalschool/physics2_2_2/physics4/lesson2/page10-1.php