เป็นไปได้ไหม ที่ ‘#แมวส้ม’ จะเป็นสิ่งพิเศษสำหรับวิทยาศาสตร์ !

เห็นน้องแมวส้มทีไร...ก็อดใจไปเล่นด้วยไม่ได้ทุกที... 

แมวสีส้มเป็นแมวที่เรียกได้ว่าโดดเด่นและเป็นที่นิยมของเหล่าคนรักแมวทั่วโลกเลยทีเดียว แม้ว่าแมวสีส้มหรือที่เราชอบเรียกกันว่า #น้องแมวส้ม (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Ginger Cat) นั้นไม่ใช่ชื่อเรียกสายพันธุ์แมวแต่เป็นชื่อเรียกแมวที่มีสีขนส้มๆ เหลืองๆ เฉยๆ ก็ตาม แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าความเป็นแมวส้มนั้นพิเศษมากกว่าที่คิด


ในวันที่ 1 กันยายน ของทุกปีนี้ก็ยังเป็น #วันยกย่องแมวส้ม อีกด้วย STeP ขอพามารู้จักกับความพิเศษที่วิทยาศาสตร์ได้กล่าวไว้ มาดูกันว่า น้องแมวส้มจะเป็นสิ่งพิเศษอย่างไร?  ทำไม ใครๆต่างก็หลงรักแมวส้ม 


#วันยกย่องแมวส้ม 

⠀⠀⠀ทุกวันที่ 1 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันยกย่องแมวส้ม” หรือ “Ginger Cat Appreciation Day”  ที่ก่อตั้งโดย Chris Roy ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชาวอเมริกา ที่ผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์ เพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญกับเจ้าเหมียวสีส้ม ที่มักถูกทอดทิ้งเป็นอันดับที่สองรองจาก "แมวดำ" นั่นเอง 


ต้นกำเนิดแมวส้ม

⠀⠀⠀จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของแมวในยุคต่างๆ ตั้งแต่เมื่อ 9,000 ปีก่อนที่มนุษย์ยังใช้ชีวิตแบบล่าสัตว์และย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ จนถึงแมวในยุคศตวรรษที่ 20

แมวส้มถูกวิเคราะห์ว่าคือลูกหลานของ African wildcat มีต้นกำเนิดตั้งแต่เมื่อ 9,000 ปีที่แล้ว เป็นแมวที่กระจายแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งแมวส้มไทยก็ยังถูกคาดการณ์ว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดมาจากแมวอียิปต์นั่นเอง


เคยสังเกตกันไหม? ว่าแมวส้มมักจะเป็นตัวผู้

⠀⠀⠀นั่นก็เพราะว่ายีนที่กำหนดขนสีส้มของน้องบนโครโมโซม X สมมติเป็น X1 แมวตัวผู้ที่มีโคโมโซม XY ต้องการ X1 แค่ตัวเดียวก็จะทำให้น้องมีขนสีส้ม แต่ตัวเมียกลับต้องการถึง 2 ตัว ถึงจะมีขนสีส้ม 

⠀⠀⠀อธิบายง่ายๆ ก็คือ แมวตัวผู้สีส้ม เกิดจากพ่อส้มหรือแม่ส้มแค่ตัวเดียวก็ได้ แต่แมวตัวเมียสีส้ม จะต้องเกิดจากพ่อส้มและแม่ส้มสองตัว (หรือพ่อส้ม+แม่สามสี) ทำให้เกิดแมวตัวผู้สีส้มง่ายกว่าตัวเมียสีส้มมาก ดังนั้นทำให้น้องแมวส้มส่วนใหญ่จึงเป็นแมวตัวผู้นั่นเอง !


แมวส้มอ้วนกว่าแมวตัวอื่น

⠀⠀⠀งานวิจัยในปี 1995 จากฝรั่งเศส งานศึกษานี้ถือเป็นงานของคนรักแมวส้มอย่างหนึ่ง เพราะเน้นการศึกษาเจ้าแมวสีส้มโดยเฉพาะ ตัวงานวิจัยทำการรวบรวมและศึกษาพฤติกรรม โดยรวบรวมและจำแนกแมวออกเป็น 7 กลุ่มสี แล้วเปรียบเทียบข้อมูลหลายๆ ด้าน ซึ่งงานศึกษาแมวส้ม ได้ข้อสรุปที่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะคือ 

⠀⠀⠀แมวส้มมีแนวโน้มจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าแมวสีอื่น! ซึ่งหมายความว่าเจ้าแมวส้มนั้นอ้วนกว่าเพื่อนนั่นเอง โดยผลการศึกษาระบุว่า “แมวส้มตัวผู้มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวมากกว่าแมวสีอื่นๆ ส่วนแมวส้มตัวเมียมีแนวโน้มจะน้ำหนักน้อยกว่าแมวสีอื่นๆ” เพราะ เจ้าแมวสีส้มมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยขยับตัว ชอบนอน หรือพูดเหมารวมคืออาจจะขี้เกียจหน่อย ถ้าเจ้าของตามใจก็อาจจะทำให้มันอ้วนได้ง่ายนั่นเอง


แมวส้มเป็นมิตรมากที่สุด ?

⠀⠀⠀งานวิจัย การสำรวจนิสัยน้องแมวจากอาสาสมัครจำนวน 189 คน ผลพบว่าอาสาสมัครนั้นได้ลงความเห็นว่าแมวส้มมีนิสัยเป็นมิตรมากที่สุด (ผลอื่นๆ ที่น่าสนใจคือแมวสีขาวถูกลงความเห็นว่ามีนิสัยค่อนเย็นชาและห่างเหิน และแมวสีเปรอะ (Turtoise Shell) มีนิสัยไม่ค่อยทนกับสิ่งที่ไม่ชอบ)  แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่ค่อยมั่นใจนักว่าสาเหตุที่ทำให้น้องแมวส้มเป็นมิตรและขี้อ้อนมากกว่าแมวสีอื่นคืออะไรกันแน่ แต่เชื่อว่าลักษณะนิสัยบางอย่างอาจจะถูกถ่ายทอดมาพร้อมกับยีนสีขนนั่นเอง

⠀⠀⠀อย่างไรก็ตามงานวิจัยไม่ได้ระบุหรือยืนยันความเชื่อที่ว่าแมวสีส้มมีความน่ารักและเป็นมิตรกว่า แต่หากการเหมารวมนี้เป็นจริง ก็อาจเป็นเพราะพฤติกรรมที่ดูกล้าหาญ (รวมทั้งเสี่ยงภัยของมัน) ได้สร้างความประทับใจต่อมนุษย์และสร้างความเกรงใจต่อแมวขี้อายสีอื่นๆ ทำให้พวกมันกล้าเข้าหามนุษย์มากกว่าและดูเป็นมิตรกับมุนษย์มากที่สุด


แมวส้มชอบทำตัว “เสี่ยงตาย” แต่ “เซ็กซี่” ?

⠀⠀⠀คาเรน วู (Karen Wu) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า แมวที่มีขนสีส้มมักมีพฤติกรรม ‘เสี่ยงตาย’ และมีความ ‘เซ็กซี่’ ต่อแมวด้วยกันเองมากกว่าแมวประเภทอื่น ก็คือน้องแมวส้มชอบทำอะไรเสี่ยงๆ มากกว่าน้องแมวสีอื่น น้องดื้อและซนมากนั่นเอง แต่น้องก็ยังมีแรงดึงดูดกับแมวประเภทอื่นๆ จึงทำให้เจ้าขนปุยสีส้มอาจมีสถานะทางสังคม (ของแมว) สูง

⠀⠀⠀งานวิจัยในปี 2007 โดยปอนเทียร์ ระบุว่า แมวสีส้มมีความน่าสนใจทางเพศมากกว่าแมวสีอื่น ๆ ในสายตาแมวด้วยกันเอง เนื่องจากนักวิจัยพบว่าแมวเพศผู้สีส้มนั้นมีน้ำหนักมากกว่าแมวสีอื่น อีกทั้งยังมีขนาดอวัยวะโดยเฉลี่ยใหญ่กว่า เป็นผลให้พวกมันประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์ที่มากกว่า เพราะแมวเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะมีอำนาจเหนือกว่าและก้าวร้าวมากกว่า ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกด้วย


แมวส้มพบเจอได้ทุกที่ ?

⠀⠀⠀งานวิจัยของปอนเทียร์และคณะที่เผยแพร่เมื่อปี 1995 (Pontier et al.(1995)) ที่ได้ทำการสำรวจและศึกษาแบบสุ่มกับกลุ่มตัวอย่างประชากรแมว 59 ถึง 491 ตัวในฝรั่งเศสระหว่างปี 1982 ถึง 1992 ซึ่งได้ทำการตรวจสอบความถี่และความแปรปรวนของยีนที่ทำให้เกิดขนสีส้มในแมว มีการพบว่าในต่างประเทศจะพบแมวส้มมากที่สุดในเขตชนบทไม่ใช่ในย่านเมือง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าแมวส้มตัวผู้นั้นมีขนาดใหญ่กว่าแมวตัวผู้สีอื่น และในแถบชนบทจะมีนิสัยจับคู่กับตัวเมียหลายตัว ในขณะที่แมวตัวเมียจะจับคู่กับตัวผู้เพียงตัวเดียว ทำให้แมวส้มตัวผู้นั้นมีโอกาสผสมพันธุ์กับแมวตัวเมียมากกว่าและทำให้เกิดการส่งต่อยีนขนสีส้มง่ายขึ้นและมากขึ้น จึงทำให้เกิดน้องแมวส้มจำนวนมาก และน้องยังมีสเน่ห์กับกับแมวประเภทอื่นๆ อีกด้วยนะ 


แมวส้มทุกตัวจะมีสัญลักษณ์ตัว M ที่หน้าผาก

⠀⠀⠀มีการระบุเอาไว้ว่าแมวส้มทุกตัวคือ แมวลายสลิดหรือที่เรียกว่าลายเสือ ซึ่งลักษณะเด่นของแมวประเภทนี้ก็คือ น้องจะมีสัญลักษณ์ที่อยู่บนหน้าผากเป็น “รูปตัว M” บางตัวอาจจะมีสัญลักษณ์ให้เห็นแบบเข้ม ๆ หรือบางตัวอาจจะเป็นสัญลักษณ์แบบจาง ๆ ซึ่งแต่ละตัวจะมีความเข้มหรือความจางที่แตกต่างกันออกไป


แต่ไม่ว่าน้องแมวจะมีสีอะไร หรือมีนิสัยแบบไหน ถ้าน้องเป็นแมวของเราแล้ว น้องก็จะเป็นแมวที่น่ารักที่สุดในโลกสำหรับเราอยู่ดี! อย่าลืมดูแลน้อง และรักน้องให้มากๆ เพราะทั้งโลกของน้องอาจจะมีแค่เราคนเดียว

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #cat #gingercat #วันยกย่องแมวส้ม #แมวส้ม #น้องแมว #คนรักแมว #แมว  #สัตว์เลี้ยง 


อ้างอิง : 

https://www.jstor.org/stable/3545954

https://onlinelibrary.wiley.com/.../j.1439-0310.2006.01320.x